ข่าวพีอาร์ » เสวนาทิศทางพลังงานไทย ในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก

เสวนาทิศทางพลังงานไทย ในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก

30 สิงหาคม 2018
945   0

เวทีเสวนาทิศทางพลังงานไทย ในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ซึ่งจัดโดยมีเดีย แอนด์ บล็อกเกอร์ คลับ ได้แนวทางระดมความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน นำไปสู่ฐานข้อมูลด้านสถานการณ์พลังงานและแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยในอนาคต โดยทุกฝ่ายเห็นว่าแผนพีดีพีที่จะจัดทำขึ้นใหม่ จะต้องมีโรงไฟฟ้าหลักอยู่ในแผน เน้นการกระจายในทุกภาคของประเทศต้องมีการบริหารจัดการที่ดี รวมทั้งต้องปรับตัวรับกับเทคโนโลยีใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

มีเดีย แอนด์ บล็อกเกอร์ คลับ จัดเสวนาหัวข้อเรื่อง “ทิศทางพลังงานไทย ในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก” ในวันที่ 30 สิงหาคม 2561 เวลา 9.00 – 12.00 น. ณ โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส
โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญประกอบด้วยนายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ,ดร.อุริช อัชชโคสิต นักวิชาการด้านพลังงาน ,นายสุวัฒน์ กมลพนัส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายภัทรพงศ์ เทพา ผู้ช่วยผู้ว่าการนโยบาย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)


ทั้งนี้เพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์พลังงานและแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย ความต้องการใช้ไฟฟ้าและการผลิตไฟฟ้ารายภาค กรอบในการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) ฉบับใหม่ แตกต่างจากฉบับเดิมอย่างไร ปัจจัยหลักที่ใช้ในการพยากรณ์ในแผน PDP ฉบับใหม่ ความจำเป็นที่ต้องมีแผน PDP และแผน PDP ฉบับใหม่ จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบไฟฟ้าไทยอย่างไร


โดยมีผู้เข้าฟังจากวงการที่เกี่ยวข้องเช่น ภาครัฐ อาทิ เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตัวแทนจากองค์กรบริหารท้องถิ่น ภาคเอกชน อาทิ ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สภาหอการค้าประจำจังหวัด สมาคมผู้ประกอบกิจการท่องเที่ยวจังหวัด สื่อมวลชน อาทิ Blogger/เวบมาสเตอร์/ สื่อมวลชนสายพลังงาน / อุตสาหกรรม / สิ่งแวดล้อม ทั้งสื่อออนไลน์และออฟไลน์ ภาควิชาการ สถาบันการศึกษา นักวิชาการพลังงาน นักวิชาการสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าและส่งออกพลังงาน โดยสามารถผลิตได้ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแต่ผลิตได้น้อยกว่าความต้องการใช้ จึงต้องมีการนำเข้า และมีแนวโน้มที่จะต้องนำเข้าพลังงานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งน้ำมัน ก๊าซฯ ไฟฟ้า และถ่านหิน โดยหัวใจสำคัญของการบริหารจัดการด้านพลังงานของประเทศ จะมียุทธศาสตร์ที่สำคัญ 2 ประการ คือ 1.ประสิทธภาพในการใช้พลังงาน เพราะทรัพยากรของประเทศมีน้อย ต้องมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และ 2.ต้องแสวงหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม


ซึ่งในเรื่องของประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน สามารถทำได้ทั้งในเรื่องการขนส่ง การใช้ไฟฟ้า การประหยัดพลังงานในโรงงานอุตสาหกรรม และการเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งในปี 2560 การนำเข้าพลังงานของไทยมีมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านบาทปี ในส่วนนี้เป็นการนำเข้าน้ำมันถึง 7 แสนล้านบาท ถ้าประเทศไทยสามารถจัดการเรื่องประสิทธิภาพการใช้พลังงานได้ จะประหยัดเงินตราต่างประเทศได้มากและเมื่อดูตัวเลขเปรียบเทียบประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศไทยกับประเทศในกลุ่มอาเซียน หรือยุโรป ประสิทธิภาพของไทยจะต่ำมาก เห็นได้จากการใช้พลังงานต่อการเติบโตของจีดีพี ถ้าจีดีพีเพิ่มขึ้น 1% การใช้พลังงานของไทยจะเพิ่มขึ้นเกือบ 1% ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วจะใช้พลังงานเพิ่มขึ้นแค่ 0.3-0.4% และหากเทียบประเทศในกลุ่มอาเซียน สัดส่วนการใช้พลังงานของไทยจะดีกว่า สปป.ลาว และประเทศกัมพูชา แต่ถ้าเทียบกับประเทศเวียดนามแล้วสัดส่วนการใช้พลังงานจะดีกว่าประเทศไทย


สำหรับปัญหาในภาคพลังงานของไทย คือ ผลิตพลังงานได้ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ ซึ่งต้องนำเข้าน้ำมันดิบ 87% ของความต้องการในประเทศ นำเข้าก๊าซฯ 29% ซึ่งสัดส่วนนี้จะสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดว่าการใช้ก๊าซฯ จะสูงขึ้นเรื่อยๆ และจะต้องทดแทนด้วยการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ซึ่งมีราคาแพงจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าจะแพงขึ้น นอกจากนี้ จะต้องลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการนำเข้า ซึ่จะเพิ่มจาก 5 ล้านตันในปัจจุบัน เป็น 30 ล้านตันในอนาคต ซึ่งปัจจุบันมีแผนที่จะขยายโครงสร้างพื้นฐานในส่วนของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จำนวน 17.5 ล้านตันต่อปี และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 1.5 ล้านตันต่อปี
ดังนั้น ความมั่นคงทางด้านพลังงานจะเกิดขึ้นได้ จะต้องมีการวางแผนการผลิตไฟฟ้าในอนาคตให้เพียงพอในทุกพื้นที่ ซึ่งแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ (พีดีพี) ฉบับใหม่ จะต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตในระบบ 42,299 เมกะวัตต์ มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ประมาณ 30,000 เมกะวัตต์ และมีกำลังการผลิตสำรองสูงกว่า 40% และต้องดูว่าเป็นกำลังการผลิตสำรองที่สามารถพึ่งพาได้หรือไม่ ในกรณีที่เกิดไฟฟ้าดับ โรงไฟฟ้าจำนวน 42,299 เมกะวัตต์ จะต้องผลิตไฟฟ้าใช้ได้ทันที แต่หากกำลังการผลิตสำรองไม่สามารถผลิตได้ จึงต้องดูว่ากำลังการผลิตสำรองมากถึง 40% พึ่งพาได้เท่าไร

ดังนั้นแผนพีดีพี 2015 ที่จะปรับเปลี่ยนใหม่เป็นพีดีพี 2018 จึงมีความสำคัญมาก คือ โดยจะต้องมีการการบริหารแหล่งเชื้อเพลิง และสร้างโรงไฟฟ้าแยกเป็นตามรายภูมิภาคซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงได้ โดยดูว่าภาคไหนมีความต้องการมากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้อยากให้ประชาชนในพื้นที่เป็นผู้กำหนดเองว่าต้องการโรงไฟฟ้าหรือไม่ โรงไฟฟ้าประเภทใดและต้องการได้ผลประโยชน์อย่างไรบ้างในพื้นที่ ในขณะที่ภาครัฐจะต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) เพื่อป้องกันปัญหาการต่อต้านจากประชาชน ขณะเดียวกันก็จะต้องกำหนดให้มีโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง อย่างโรงไฟฟ้าหลัก โดยอาจให้ กฟผ.เป็นผู้ดำเนินการตามเดิม
ดร.อุริช อัชชโคสิต นักวิชาการด้านพลังงาน กล่าวว่า แผนการผลิตไฟฟ้าในปัจจุบันและอนาคตต่อไปจะต้องเน้นความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม โดยจะเห็นได้จากในอดีตเราจะต้องทำการรายผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และปรับมาเป็นการทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) และต่อไปคือ การทำ SEA ซึ่งทำให้ต่อการสร้างโรงไฟฟ้าก็จะยากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่แนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยเห็นว่าพีดีพีฉบับใหม่ ควรให้ความสำคัญกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ หรือเป็นรายภาค ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละภาค และควรให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเลียม แบตเตอรี่ หรือโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นต้น รวมทั้งอยากเห็นชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดว่าพื้นที่ใดที่มีความเหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้า
ขณะที่คุณสุวัฒน์ กมลพนัส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนในฐานะที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้พลังงาน ทราบดีว่าประเทศไทยต้องนำเข้าพลังงาน ในฐานะที่เป็นประธานกลุ่มพลังงานหมุนเวียน ก็เข้าใจว่าพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เป็นพลังงานสะอาด แต่มีราคาสูงและอาจจะไม่ค่อยมีเสถียรภาพ ไม่สามารถใช้เป็นพลังงานหลักได้ จึงจำเป็นต้องมีแบตแตอรี่ในการกักเก็บพลังงานในส่วนที่เหลือมาไว้ในใช้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพิจารณาให้ดีว่าประเทศไทยจะมีการบริหารจัดการอย่างไร


แต่อย่างไรก็ตาม เห็นว่า แผนพีดีพีที่ดีจะต้องกระจายเชื้อเพลิง ให้พึ่งพาหลายประเภท ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม แต่เชื่อได้ว่าจะมีการพัฒนามากขึ้นในเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังให้ความสำคัญกับโครงการประหยัดพลังงานภาคสมัครใจ (demand respond) โดยอยากจะให้ภาครัฐส่งเสริมการลดการใช้ไฟฟ้าลงมากกว่าการที่จะไปเพิ่มกำลังการผลิต เพราะเป็นการลดการใช้พลังงาน แต่อยากให้แผนพีดีพีกำหนดแผนให้ชัดเจน โดยอาจมีเรื่องการเงินเป็นแรงจูงใจในการเข้าร่วมโครงการอย่างจริงจัง
นายภัทรพงศ์ เทพา ผู้ช่วยผู้ว่าการนโยบาย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า แนวโน้มพีดีพีฉบับใหม่มีปัจจัยสำคัญที่จะทำให้รายละเอียดของแผนพีดีพีเปลี่ยนแปลงไป คือ ทิศทางของโลก นโยบายภาครัฐ และการปฎิรูปด้านพลังงาน โดยในส่วนของแนวโน้มในอนาคตจะเห็นได้ว่าจะมีภาคเอกชนรายย่อยเข้ามาผลิตไฟฟ้ามากขึ้น ทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.จะค่อยๆ เล็กลง รวมทั้งจะมีเทคโนโลยีใหม่ อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เข้ามามากขึ้น ทำให้ กฟผ.จะต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทมาเป็นผู้ดูแลระบบจากเดิมที่เป็นผู้ผลิต ผู้ขาย และผู้ดูแลทั้งระบบ
ในอีก 5-7 ปี กังวลว่าหากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือประเภทอื่นเข้ามาผลิตไฟฟ้ามากขึ้น กฟผ.ก็จะต้องหาวิธีการที่จะรองรับการผลิตไฟฟ้าเพื่อให้มีความมั่นคง และเพื่อให้ไฟฟ้ามีเสถียรภาพมากขึ้น

นางสาวสาธิตา โสรัสสะ ประธานมีเดีย แอนด์ บล็อกเกอร์ คลับ กล่าวว่า การที่จัดงานนี้เนื่องจากเป็นกลุ่มสื่อและบล็อกเกอร์ที่ให้ความสำคัญกับภาคเศรษฐกิจ ขณะที่เรื่องความมั่นคงด้านพลังงานมีความสำคัญต่อประเทศ จึงได้จัดงานนี้เพื่อระดมความเห็นจากทุกฝ่ายนำไปสู่การสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงด้านพลังงาน