กลับมาอีกครั้งสำหรับงานอัพเดพเทรนด์โลกดิจิทัลจากทั่วโลกอย่าง Digital Thailand Big Bang 2018 ที่รวบรวมนวัตกรรมดิจิทัลแห่งอนาคต พร้อมทั้งเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์จากเหล่ากูรู Digital Innovators ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อช่วยกันพัฒนากลยุทธ์ให้ธุรกิจก้าวทันต่อเทคโนโลยีได้ครบทุกมิติ
หนึ่งในเวทีที่น่าสนใจ คือ “Big Data Analytics and AI in action for Industry X.0” ที่มองว่าในอนาคต เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถนำมาปรับใช้กับโลกธุรกิจได้ทุกรูปแบบ ตั้งแต่กระบวนการพัฒนาและผลิตสินค้า การให้บริการ และการจัดการกระบวนการทำงาน สู่การวิเคราะห์แบบอัจฉริยะจากข้อมูล “Big Data”
ดร. มนธ์สินี กีรติไกรนนท์, Managing Director จาก Accenture ระบุว่า สิ่งที่เราเห็นในวันนี้คือปริมาณของข้อมูลเพิ่มขึ้น 2 เท่าทุก 2 ปี และมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสภาพแวดล้อมในธุรกิจปัจจุบัน เต็มไปด้วยข้อมูลที่ถูกเก็บรวบรวมจากทุกหนแห่ง ทั้งระบบ IT และ OT (Operation Technology) รวมถึง IIoT (Industrial IoT) ที่เก็บข้อมูลจากทุกอุปกรณ์ที่อยู่ในเครือข่าย ดังนั้น ธุรกิจต้องเตรียมรับมือกับปริมาณข้อมูลมหาศาล และเตรียมตัวให้พร้อมในการดึงข้อมูลที่มีอยู่รอบๆตัว ไปวิเคราะห์ในรูปแบบวิธีการต่างๆ ที่เรียกรวมกันว่า “Analytics” ไม่ว่าจะเป็น machine learning หรือ deep learning ตลอดจนกระบวนการนำความอัจริยะสมองกล หรือ computing intelligence มา ประยุกต์เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการ อีกทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานแบบครบถ้วนรอบด้าน ทั้ง back และ front end เพื่อความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง
“โดยการเพิ่มขึ้นของ Big Data จะส่งผลดีต่อธุรกิจ โดยก่อให้เกิด Insights หรือจุดประกายไอเดียธุรกิจใหม่ๆ จากการทำความเข้าใจลูกค้าและกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงคู่ค้าและภายในองค์กรเอง ทั้งนี้ มันทำหน้าที่เป็นเครื่องช่วยการตัดสินใจทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและลดความผิดพลาดในการดำเนินงาน การทำการตลาดเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้นหรือที่เรียกว่า “Micro Segmentation” ตลอดจนในระยะยาวนั้น ข้อมูลที่ได้จาก Big Data ยังสามารถนำไปสู่พัฒนาด้านงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อปรับปรุงและต่อยอดสินค้าในอนาคต ซึ่งเหล่านี้ ต้องอาศัยการประมวลผลของข้อมูลขั้นสูง ดังนั้นโจทย์ใหญ่สำคัญของธุรกิจทุกวันนี้ คือ จะเชื่อมโยง Big Data ที่มีอยู่ทั้งหมด ออกมาเป็นประกายความคิดที่มีประโยชน์ เพื่อ take action สู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้อย่างไร”
ธุรกิจจะเริ่มปรับตัวเป็น Digital อย่างไร?
ดร. มนธ์สินี กล่าวต่อว่า “ การปรับตัวของภาคธุรกิจให้เท่าทันกับเทรนด์ดิจิทัล (Digital Transformation) เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและทำให้ครบทุกด้าน เนื่องจากจะต้องเปลี่ยนทั้งสินค้า บริการ กระบวนการทำงาน และบุคลากร รวมทั้งวัฒนธรรมในองค์กรเอง กรณีที่เป็นบริษัทใหญ่ ยิ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทาย เพราะปรับตัวได้ช้ากว่า จึงแนะนำว่าให้เริ่มจากการหา “Digital Partner” เข้ามาทำงานร่วมกันกับบุคลากรเดิมในองค์กร เพื่อให้คนเหล่านั้นปรับตัว และ ซึมซับวัฒนธรรมการทำงานในรูปแบบใหม่ๆ ที่ต่างไปจากเดิม ในขณะเดียวกัน ทาง Digital Partner ก็จะช่วย setup ระบบ กระบวนการทำงาน วิธีการติดต่อลูกค้าและคู่ค้า สร้างช่องทางดิจิทัล และสร้างแพลตฟอร์มแบบเปิดสำหรับรองรับนวัตกรรมใหม่ๆ (Open Innovation) ทั้งนี้ หาก Digital Partner เป็นหน่วยงานที่มีการพัฒนาด้านนวัตกรรมที่เป็นเลิศ เขาสามารถหยิบนำเอาเทคโนโลนีใหม่ๆ เช่น Blockchain Cybersecurity มาให้องค์กรได้ทดสอบและลองใช้งานจริง ทำให้องค์กรมีการอัพเดทเทรนด์และทันสมัยอยู่เสมอ โดยที่ไม่ต้องลงทุนสร้างเองทั้งหมด
“การมี Digital Partner เป็นวิธีการ jumpstart สร้างทรัพยากรดิจิทัลในระยะเวลาที่รวดเร็ว โดยเฉพาะในระยะ 1-2 ปีแรก จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด มีองค์ความรู้ใหม่ๆเข้ามาในองค์กร มีการปรับทัศนคติ และวัฒนธรรมองค์กร พอหลังจากปีที่สอง องค์กรจะมีบุคลากรที่มีทักษะทางดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่จำนวนบุคลากรในฝั่ง Digital Partner จะค่อยๆลดลง และแทนที่ด้วยบุคลากรประจำขององค์กรเอง”
ทั้งนี้ สรุปได้ว่า สิ่งที่เป็นประโยชน์ จากการทำงานร่วมกับ Digital Partner คือ 1) มีกระบวนการบริหารงานที่ดีขึ้น 2) มีช่องทางดิจิทัลสำหรับทำการตลาด การบริการ และสื่อสาร 3) มีแพลตฟอร์มและโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ 4) มี roadmap ในการพัฒนาสินค้าและบริการที่สอดคล้องกับเทรนด์ดิจิทัล 5) มีการนำ AI และ Blockchain มาใช้ในการทำงาน และ 6) มีกระบวนการคัดเลือกคนเข้าทำงานในทักษะด้านดิจิทัล
ดร. มนธ์สินี กล่าวทิ้งท้ายว่า “ทั้งหกเรื่อง ต้องมีความเชื่อมโยงกัน มิฉะนั้น digital project จะกลายเป็น silo แบบโดดเดี่ยว และไม่สร้าง Impact แบบที่ควรเป็น ซึ่งมีองค์กรหลายแห่งอยู่ในสภาพนี้ ไม่สามารถสร้างทั้งคุณค่าและมูลค่าจาก digital transformation ได้ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย จึงอยากให้องค์กรขนาดใหญ่ลองศึกษาวิธีการนี้ดู ”