กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เดินหน้าโครงการ Digital for SMEs นำระบบดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจอย่างเป็นระบบ หวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย สู่อุตสาหกรรม 4.0 ตั้งเป้า SMEs 130 กิจการ ใน 3 สาขาหลัก ทั้งภาคการผลิต ภาคการค้า และบริการ สามารถสร้างยอดขาย ลดต้นทุนการผลิต มากกว่า 91 กิจการ และเกิด SMEs Success Case ไม่น้อยกว่า 13 กิจการ ประมาณการผลกระทบทางเศรษฐกิจสามารถสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันการแข่งขันทางการค้าและระบบเศรษฐกิจโลกมีการปรับเปลี่ยนจากเดิม โดยมีปัจจัยที่สำคัญส่วนหนึ่งมาจากความก้าวหน้า ของเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างมีระบบ เกิดประสิทธิภาพ และก้าวทันเทคโนโลยี ดังนั้น การนำระบบดิจิทัลมาใช้จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะโปรแกรมซอฟต์แวร์สำเร็จรูป ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะนอกจากจะช่วยลดความผิดพลาดในการทำงานและลดปริมาณการใช้กระดาษแล้ว ยังให้บริการบนระบบคลาวด์ (Cloud) ซึ่งเป็นระบบประมวลผลเก็บข้อมูล โดยผู้ประกอบการสามารถ ดึงข้อมูลจากที่ใดของโลกก็ได้ที่มีอินเตอร์เน็ต และสามารถใช้งานได้พร้อมกันหลายคนทำให้เกิดความสะดวกสบาย ง่ายต่อการบริหารจัดการ ดังนั้นเพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีองค์ความรู้ในการนำระบบดิจิทัลมาประยุกต์ ใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จึงได้ร่วมมือกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ SMEs ด้วยระบบดิจิทัลบริหารจัดการธุรกิจ ภายใต้ โครงการเพิ่มศักยภาพ SMEs ด้วยระบบเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital for SMEs)เพื่อพัฒนาศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยระบบดิจิทัลบริหารจัดการธุรกิจให้กับภาคการผลิต ภาคการค้า และบริการ จำนวน 130 กิจการ ประกอบด้วย ภาคการผลิต 13 สาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่1.อาหารแปรรูป 2. เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 3. ยานยนต์และชิ้นส่วน 4. เซรามิกและแก้ว 5. รองเท้าและเครื่องหนัง 6. สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 7. เหล็ก 8. ยา 9. พลาสติก 10. เครื่องจักรกล 11. ซอฟต์แวร์ 12. สิ่งพิมพ์และ 13. อู่ต่อเรือ รวมถึงภาคการค้า และบริการ และสาขาอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
“สำหรับการดำเนินงานนั้นจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและโปรแกรมซอฟต์แวร์สำเร็จรูป จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท ซอฟต์แวร์ เข้าเยี่ยมสถานที่ประกอบกิจการ เพื่อให้คำปรึกษาและวินิจฉัยธุรกิจ เพื่อคัดสรรระบบซอฟต์แวร์บริหารจัดการธุรกิจที่เหมาะสมกับกิจการนั้น ๆ เช่น ระบบการผลิต การขาย การบัญชี การบริหารบุคคล และการจัดการสินค้าคงคลัง โดยให้บริการผ่านระบบ Cloud Computing ในรูปแบบ SaaS (Software as a Service) สามารถใช้งานได้โดยผ่านเครือข่าย Internet นอกจากนี้ การดำเนินการดังกล่าว ยังสามารถช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ไทย เข้าสู่ตลาดการแข่งขันที่ทัดเทียมกับสากลเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือ ที่กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญเติบโตยิ่งขึ้นไปตามโมเดลไทยแลนด์ 4.0
ทั้งนี้ กสอ. ตั้งเป้าในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จำนวน 130 กิจการ ในการนำระบบดิจิทัลไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจอย่างเป็นระบบ จำนวนไม่น้อยกว่า 85 กิจการ หรือ คิดเป็นร้อยละ 65 และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต จำนวนไม่น้อยกว่า 91 กิจการ หรือ คิดเป็นร้อยละ 70 ของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรม ประมาณการผลกระทบทางเศรษฐกิจสามารถสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท นอกจากนี้ คาดว่าจะก่อให้เกิดผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ ในการนำระบบดิจิทัลบริหารจัดการธุรกิจไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจ จำนวนไม่น้อยกว่า 13 กิจการ หรือ ร้อยละ 10” นายกอบชัย กล่าวทิ้งท้าย