แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์” และ “หมอเจี๊ยบ-ลลนา ก้องธรนินทร์”ร่วมงานในงานสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๙ ในครั้งนี้ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในเรื่องคุณธรรม นำการพัฒนาประเทศ ในงานสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๙ ภายใต้แนวคิด พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา สร้างคนดีสู่สังคม ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญในการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ในทุกระดับ เพื่อสร้างสังคมคุณธรรม โดยต้องสร้างกระบวนการขัดเกลา บ่มเพาะปลูกฝังจิตสานึกของประชาชน และจะต้องประสานความร่วมมือ รวมพลังกับทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และองค์กรทางศาสนา ให้เป็นพลังประชารัฐ ขับเคลื่อนทั้งในระดับนโยบาย และการปฏิบัติให้เข้าถึงบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรทั้งหมด ซึ่งการจัดสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ จะเป็นเวทีที่นำประสบการณ์ความรู้ ความสำเร็จขององค์กรคุณธรรมที่ต่างๆ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้เกิดการนำมาใช้ปฏิบัติในการส่งเสริมคุณธรรมที่เหมาะสมกับสังคมไทย
นายวีระ กล่าวต่อว่า พระมหากษัตริย์ของไทยทุกพระองค์ ทรงยึดหลักทศพิธราชธรรมในการครองตน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นต้นแบบแห่งผู้มีคุณธรรม ทรงพระราชทานหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวปฏิบัติให้คนไทยได้ยึดความพอดี พอประมาณ และไม่เบียดเบียนผู้อื่น เพื่อให้เป็นแนวปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสม ทั้งนี้ รัฐบาลมีเป้าหมายหลักที่จะพัฒนาคุณธรรมคนทุกระดับชั้น ยกระดับการศึกษาและสร้างสุขภาวะที่ดี ร่วมไปกับการปลูกฝังวินัย สร้างจิตสำนึก และตระหนักถึงความเป็นไทย ตลอดจนยกย่องคนทำความดีเพื่อเป็นแบบอย่างของสังคมอีกด้วย
ภายในงานพบกับกิจกรรมต่างๆ มากมาย ซึ่งแบ่งออกเป็น ๕ ส่วน ด้วยกัน คือ ส่วนที่ ๑ เกี่ยวกับการเสวนาการขับเคลื่อนเชิงนโยบายด้านคุณธรรม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และปาฐกถาพิเศษ เพื่อร่วมกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนคุณธรรมของสังคมไทย และฉันทามติ ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันของหน่วยงาน องค์กรภาคส่วนต่างๆ พร้อมทั้งข้อเสนอทางนโยบายในการขับเคลื่อนสังคมคุณธรรมในระยะต่อไป ในรูปแบบ “สมัชชาคุณธรรม” โดยเรียนเชิญผู้แทนจากรัฐบาล ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ตลอดจนเครื่อข่ายเด็ก เยาวชนและครอบครัวเข้าร่วม
ส่วนที่ ๒ การจัดการความรู้และเวทีทางวิชาการ อาทิ การส่งเสริมและรับรองมาตรฐานองค์กรคุณธรรม การนำเสนอกระบวนการ หรือเครื่องมือการส่งเสริมคุณธรรมในบริบทต่างๆ การนำเสนอบทเรียนความสำเร็จชุมชน องค์กรคุณธรรม เป็นต้น
ส่วนที่ ๓ เป็นการจัดแสดงนิทรรศการ นำเสนอผลงานองค์ความรู้ นวัตกรรมด้านการส่งเสริมคุณธรรม
และกรณีต้นแบบ ชุมชนคุณธรรม องค์กรคุณธรรม อำเภอคุณธรรม และจังหวัดส่งเสริมคุณธรรม ของภาคีเครือข่ายคุณธรรมภาคส่วนต่างๆ ในรูปแบบ “ตลาดนัดคุณธรรม” แบ่งออกเป็น ๗ โซนด้วยกัน คือ โซนที่๑ ศาสตร์พระราชากับการพัฒนาที่ยั่งยืน, โซนที่๒ ยุทธศาสตร์ชาติ ทิศทาง นโยบายด้านการส่งเสริมคุณธรรม โซนที่๓ การขับเคลื่อนคุณธรรม พอพียง วินัย สุจริต จิตอาสา ขององค์กรเครือข่าย โซนที่๔
การขับเคลื่อนองค์กรคุณธรรม, โซนที่๕ องค์ความรู้การส่งเสริมคุณธรรม โซนที่๖ คุณธรรมสร้างสรรค์สังคมไทย โซนที่๗ ลานกิจกรรมสาระบันเทิง / เวทีการแสดงศิลปวัฒนธรรม
ส่วนที่ ๔ การยกย่อง เชิดชูบุคคล องค์กร ที่เป็นแบบอย่างในด้านคุณธรรม พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสาและส่วนที่ ๕ กิจกรรมสาระบันเทิง ที่สอดแทรกด้านคุณธรรม พบกับการเสวนา “เปิดใจจิตอาสาเพื่อสังคม” แลกเปลี่ยนประสบการณ์ กับศิลปิน ดารา ผู้มีชื่อเสียงทางสังคม อาทิ คุณตั๊ก-มยุรา เศวตศิลา, คุณแพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์, หมอเจี๊ยบ-ลลนา ก้องธรนินทร์ และบุคคลที่เป็นแบบอย่างด้านคุณธรรม ๔ ประการ การแสดงศิลปวัฒนธรรม ที่สื่อถึงวิถีวัฒนธรรมอันดีงาม เป็นรากฐานคุณธรรมของสังคมไทย
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ศูนย์คุณธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หวังเป็นสื่อกลางของเครือข่ายคุณธรรมทุกภาคส่วน ได้มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม การสร้างความเข้าใจ พร้อมตอกย้ำแนวคิด “พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา สร้างคนดีสู่สังคม” ให้เกิดเป็นกระแส สร้างความตระหนักและตื่นตัวในการขับเคลื่อนคุณธรรม ให้เต็มพื้นที่ในสังคมไทย มุ่งเน้นการส่งเสริมจิตสำนึกคุณธรรมในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก เยาวชน ครอบครัว และประชาชชน ในด้านความพอเพียงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน วินัยประชาชนสะท้อนวินัยชาติ ร่วมสร้างสังคมสุจริต และมีจิตอาสา เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ทั้งนี้ยังเป็นการประกาศเจตนารมณ์ของภาคีเครือข่ายสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ให้สังคมรับรู้และมีส่วนร่วมในการขยายผลนำไปสู่การปฏิบัติ และหาแนวทางขับเคลื่อนสังคมคุณธรรมร่วมกัน นำไปสู่การเปลี่ยนประเทศอย่างเป็นนรูปธรรม Let’s Change ประเทศไทยสู่ “ประเทศมีความ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ตามวิสัยทัศน์ประเทศไทยที่ระบุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๒ ต่อไปในอนาคต