การศึกษา-สาธารณสุข » เหนื่อยหอบ แน่นหน้าอก แยกอย่างไร โรคหัวใจหรือโควิด-19

เหนื่อยหอบ แน่นหน้าอก แยกอย่างไร โรคหัวใจหรือโควิด-19

21 กรกฎาคม 2020
723   0

 

โรคเดียวที่พูดถึงกันไปทั่วโลกในขณะนี้ หนีไม่พ้นเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19ซึ่งเกิดจากเชื้อ SARS Coronavirus -2 มาตั้งแต่ปลายปี2562  โดยหนึ่งในอาการ หากติดเชื้อโควิด-19 คือ เหนื่อยหอบแน่นหน้าอกซึ่งใกล้เคียงกับอาการของโรคหัวใจบางประเภทเรามาดูวิธีสังเกตอาการว่าจะแยกออกจากโรคหัวใจได้อย่างไร

นพ.ชาติทนง ยอดวุฒิ อายุรแพทย์หัวใจ รพ.หัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า ทำความเข้าใจก่อนว่าอาการของการติดเชื้อโควิด-19 คือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจโดยจะมีอาการที่ทางเดินหายใจส่วนบนเป็นอันดับแรกเช่นคัดจมูกน้ำมูกไหลไอเจ็บคอร่วมกับอาการไข้จนถึงไข้สูงหนาวสั่นปวดเมื่อยตามตัวปวดหัวปวดตามข้อหลังจากนั้นอาการจะมีการเปลี่ยนแปลงและลุกลามไปจนถึงการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างคือปอดจุดนี้ที่จะทำให้คนไข้เริ่มมีอาการเหนื่อยเกิดภาวะเมตาบอลิซึมสูงร่วมกับการติดเชื้อในปอดทำให้ออกซิเจนในเลือดลดต่ำลงคนไข้จะหายใจหอบเหนื่อยหัวใจเต้นเร็วซึ่งจะมีความแตกต่างจากอาการเจ็บหน้าอกจากโรคเส้นเลือดหัวใจตีบคืออาการเริ่มต้นจะไม่มีอาการของไข้หวัดมาก่อนโดยมากอาการเจ็บหน้าอกจากเส้นเลือดตีบจะสัมพันธ์โดยตรงกับการออกแรงและออกกำลังกาย

ขณะที่อาการเหนื่อยจากภาวะหัวใจล้มเหลวหรือน้ำท่วมปอดนั้น หากเกิดขึ้นจากภาวะน้ำเกินจะไม่มีอาการเป็นไข้หวัดนำมาก่อนหรือร่วมด้วยแต่ลักษณะอาการของโรคหัวใจล้มเหลวหรือน้ำท่วมปอดนั้นจะเป็นตอนขณะที่นอนราบและอาการจะมากขึ้นจนถึงนอนราบไม่ได้นอนลงไปแล้วจะมีอาการไอต้องนอนหมอนสูงหลายใบและหนักสุดคือนั่งหลับเพราะนอนราบไม่ได้สิ่งสำคัญที่ควรระวังคือ คนที่เป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนแล้ว หากติดเชื้อโควิด-19 จะไปกระตุ้นให้อาการของโรคหัวใจกำเริบจนแยกอาการได้ค่อนข้างยาก

ผู้ป่วยโรคหัวใจหากติดเชื้อโควิด-19 อาการจะรุนแรง มีอัตราการเสียชีวิตได้สูงกว่าคนทั่วไป ทั้งนี้ ความรุนแรงของอาการหากติดเชื้อไม่ได้เฉพาะในคนที่เป็นโรคหัวใจเท่านั้นแต่ในกลุ่มดังต่อไปนี้ได้แก่อายุมากกว่า 65 ปีมีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคปอดเรื้อรังเดิม โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคไต โรคตับแข็ง และโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องอยู่เดิมล้วนแต่เป็นภาวะที่จะทำให้การติดเชื้อโควิด-19 รุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตสูงได้ ดังนั้นผู้ป่วยควรมีความระมัดระวังอย่างยิ่งในการดูแลตัวเองไม่ให้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดเนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่รักษาโรคได้โดยตรง การดูแลตัวเองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

คนที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว จะมีอาการแสดงมากขึ้นหลังจากติดเชื้อโควิดคือโรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงหรือล้มเหลวถ้าได้รับเชื้อเข้าไปจะทำให้ระบบการทำงานของร่างกายเมตาบอลิซึมสูงขึ้นจนกระทั่งกระตุ้นให้โรคหัวใจล้มเหลวกำเริบติดเชื้อโควิดรุนแรงจนทำให้ไตวายและไตไม่สามารถขับน้ำออกจากร่างกายได้จนเป็นเหตุให้น้ำท่วมปอดซึ่งทั้งสองภาวะนี้ล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุต้นๆ ที่ทำให้เสียชีวิตหรือภาวะแทรกซ้อนต่างๆจนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลนานและทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมามากมาย

คำแนะนำที่ดีที่สุดและได้ผลที่สุดสำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจควรปฎิบัติคือ Social distancing ห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 2 เมตรใส่หน้ากากอนามัยหมั่นล้างมือให้สะอาดสม่ำเสมอหรือใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือกินร้อน ใช้ช้อนของเราไม่ปนกับใคร แยกของใช้ และไม่ไปในแหล่งระบาดแหล่งชุมชนมีประกาศไม่ให้ผู้สูงอายุออกจากบ้านที่สำคัญคือ ลูกหลานต้องไม่เอาเชื้อจากนอกบ้านไปติดผู้สูงอายุในบ้านผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจและมีอาการหรือจำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาหรือติดตามอาการในช่วงนี้ควรจะปฏิบัติอย่างเคร่งครัด มีการตรวจคัดกรองโรคสวมหน้ากากอนามัย ไม่ควรมาพบแพทย์หรือเลี่ยงไม่มาปรึกษาแพทย์ถ้าอาการยังไม่สงบและยังมีอาการอยู่ และที่สำคัญไม่ควรขาดยา ถ้ามาโรงพยาบาลไม่ได้ควรเตรียมยาให้พอดีหรือใช้วิธีปรึกษาแพทย์ผ่านช่องทางอื่นเช่น การปรึกษาแพทย์ออนไลน์ หรือโทรศัพท์ปรึกษาแพทย์ผ่านอุ่นใจสายด่วนของโรงพยาบาลกรุงเทพ

สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ หากเกิดการติดเชื้อโควิด-19 อาจต้องสังเกตอาการของตนเองอย่างดี ตั้งแต่เริ่มต้น เช่น อาการที่คล้ายหวัดคัดจมูกน้ำมูกไหลไอเจ็บคอร่วมกับอาการไข้จนถึงไข้สูงหนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัวปวดหัว ปวดตามข้อควรจะต้องรีบติดต่อสถานพยาบาลและเตรียมพร้อมที่จะมาตรวจเพื่อรักษาอาการตั้งแต่เริ่มต้น หากปล่อยไว้นานอาจเป็นอันตรายได้ ในห้วงเวลาของการระบาดเชื้อโควิด -19 โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ขอดูแลทุกคนด้วยความห่วงใย ภายใต้คุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล

เรื่อง อนุสรา ทองอุไร