การศึกษา-สาธารณสุข » COVID-19 เชื่อมโยงกับระบบประสาทจริงหรือ?

COVID-19 เชื่อมโยงกับระบบประสาทจริงหรือ?

11 สิงหาคม 2020
926   0

ปัจจุบันไวรัส COVID-19 ยังคงระบาดไปทั่วโลก แม้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อในบางประเทศเริ่มดีขึ้น แต่ก็ยังมีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับโรคบางโรคที่อาจเชื่อมโยงกับ COVID-19 ได้ ซึ่งผู้ป่วยที่ติดเชื้อ นอกจากในระบบทางเดินหายใจ ยังสามารถทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบอื่นๆ ได้ โดยหนึ่งในระบบโรคดังกล่าวคือ โรคทางระบบสมองและประสาท

นพ.ชัยศักดิ์ ดำริการเลิศ แพทย์อายุรกรรมระบบประสาทและแพทย์ผู้ชำนาญการด้านพฤติกรรมประสาทวิทยาและโรคสมองเสื่อม โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า มีงานวิจัยจากนครอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีนพบว่า ผู้ป่วย COVID-19 สามารถพบอาการทางระบบประสาทได้ถึง 36% ซึ่งอาการดังกล่าวพบได้ทั้งในระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System) และระบบประสาทส่วนปลาย (Peripheral Nervous System)

โดยคาดว่าอาการดังกล่าวเกิดจากการที่เชื้อไวรัสสามารถเข้าไปในระบบประสาทได้โดยตรง และไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันต่างๆ ให้เกิดการอักเสบ และทำให้มีการบาดเจ็บของเซลล์ประสาทตามมา จากงานวิจัยดังกล่าวพบว่า อาการทางระบบประสาทในผู้ป่วย COVID-19 มีได้ตั้งแต่อาการเพียงเล็กน้อย เช่น มึนศีรษะ ปวดศีรษะ การรับรสหรือรับกลิ่นลดลง อาการปวดเส้นประสาทหรือกล้ามเนื้อ จนถึงอาการรุนแรง เช่น การรับรู้สติสัมปชัญญะที่ลดลง อาการชัก หรืออาการของโรคหลอดเลือดสมอง

นอกจากนั้นยังมีรายงานผู้ป่วยเกี่ยวกับเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ทำให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบ (Encephalitis) หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) โรคกลุ่มอาการกิลแลงบาร์เร (Guillain Barre Syndrome) และโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดในผู้ป่วยอายุน้อย (Acute Ischemic Stroke in Young Adults) สำหรับคนที่มีโรคทางระบบประสาทอยู่เดิม เช่น โรคลมชัก โรคหลอดเลือดสมอง โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ หรือ โรคพาร์กินสัน จากงานวิจัยจนถึงปัจจุบันยังไม่พบว่าโรคประจำตัวทางระบบประสาทดังกล่าวเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส COVID-19 และยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนชัดเจนว่า ยารักษาโรคทางระบบประสาทดังกล่าวจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวทางระบบประสาทดังกล่าวบางส่วนมีอายุค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าในคนสูงอายุนั้นมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้ง่ายกว่าในคนอายุน้อย รวมทั้งอาการแสดงจะรุนแรงกว่า จึงมีความจำเป็นที่ผู้ป่วยที่มีโรคประจำทางระบบสมองและประสาทดังกล่าวควรรับประทานยาต่อเนื่อง ดูแลสุขภาพตนเองให้ดี และมีการป้องกันการติดเชื้อที่ถูกต้องร่วมด้วย ในโรคทางระบบประสาทบางอย่าง เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงมายแอสทีเนียกราวิส (Myasthenia Gravis)  โรคปลอกประสาทอักเสบของระบบส่วนกลาง (Multiple Sclerosis) หรือโรคเส้นประสาทอักเสบเรื้อรัง (CIDP) ผู้ป่วยบางคนจำเป็นต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกันหรือปรับเปลี่ยนภูมิคุ้มกันในการควบคุมโรค

ซึ่งจากข้อมูลจนถึงปัจจุบัน ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่ายากลุ่มนี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้มากน้อยเพียงใด แต่หากหยุดยาดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงมากที่จะทำให้โรคประจำตัวกำเริบ ส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากตัวโรคและทุพพลภาพตามมา แนะนำว่าผู้ป่วยที่รับยาในกลุ่มนี้ไม่ควรหยุดยาเอง ควรดูแลสุขภาพ และป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อให้ดี ปรึกษาแพทย์ประจำที่รักษาก่อนการหยุดหรือปรับเปลี่ยนยาทุกครั้ง

การติดเชื้อไวรัส COVID-19 นอกจากจะทำให้เกิดอาการทางระบบหายใจแล้ว ยังสามารถทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทได้หลากหลายแบบ ซึ่งอาการดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นอาการที่ไม่ได้จำเพาะเจาะจงกับเชื้อไวรัสชนิดนี้ บางครั้งอาการที่เป็นอาจเป็นจากสาเหตุอื่น ไม่ได้เป็นจากเชื้อไวรัส COVID-19 เสมอไป

ดังนั้นหากมีอาการหรือข้อสงสัย แนะนำให้ปรึกษาแพทย์อายุรกรรมระบบประสาทเพื่อทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุของอาการต่อไป

เรื่อง : อนุสรา ทองอุไร