เมื่อก้าวเข้าสู่ฤดูฝนโดยเฉพาะช่วงปลายฝนต้นหนาวหรือระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม มักจะพบเด็กๆ ป่วยบ่อยขึ้น อาจเพราะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และเด็กมักจะได้รับเชื้อโรคง่ายกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเชื้อไวรัส แต่รู้หรือไม่ว่ามีไวรัสที่เป็นอันตรายกับเด็กแฝงตัวมากับช่วงหน้าฝนที่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม คือ เชื้อไวรัส Respiratory Syncytial Virus (RSV-อาร์เอสวี) ที่มีอาการคล้ายไข้หวัดแต่ส่งผลรุนแรง ถึงขั้นปอดอักเสบติดเชื้อ ซึ่งไวรัสชนิดนี้ยังไม่มียารักษาและวัคซีน
แพทย์หญิงนงนภัส เก้าเอี้ยน แพทย์ด้านโรคระบบทางเดินหายใจเด็ก โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า เชื้อไวรัส RSV เป็นเชื้อที่ทำให้ระบบทางเดินหายใจอักเสบในผู้ป่วยทุกช่วงอายุตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้ใหญ่ แต่ขึ้นอยู่กับอาการว่าจะเป็นมากในช่วงวัยไหน พบในเด็กอายุน้อยตั้งแต่ วัยทารก จนถึงช่วงวัยเข้าอนุบาล ประเทศไทยมักมีการระบาดช่วงฤดูฝน โดยเด็กๆ จะติดเชื้อไวรัส RSV จากการรับเชื้อผ่านทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ จากการสัมผัส หรือละอองน้ำมูกของผู้ป่วยคนอื่น และมีระยะฟักตัวประมาณ 2-7 วัน ซึ่งสามารถเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจตั้งแต่ส่วนบนจนถึงส่วนล่าง
ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการหลอดลมฝอยอักเสบ (Acute bronchiolitis) และอาจทำให้ปอดอักเสบติดเชื้อ (Pneumonia) โดยเฉพาะเด็กเล็กจะมีอาการปอดบวม ไอ หอบได้ง่าย เด็กจะมีอาการหายใจเร็ว หอบเหนื่อย บางครั้งเป็นมาก จะหายใจดัง “วี้ด” ถ้าเป็นมากขึ้นจะมีอาการหายใจล้มเหลวได้
นอกจากนั้นยังส่งผลให้เด็กบางคนมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหอบหืดในอนาคตได้อีกด้วย เด็กที่ติดเชื้อไวรัส RSV มักจะมีอาการเริ่มแรกเหมือนไข้หวัด คือ มีไข้ ไอ น้ำมูกไหล คัดจมูก แต่สิ่งที่พ่อแม่สามารถสังเกตเห็นว่าลูกอาจจะติดเชื้อ RSV ได้แก่ ลูกมีอาการไอมาก ไอถี่ มีเสมหะเยอะและเหนียวข้น หายใจหอบเหนื่อย หายใจแรง หน้าอกบุ๋ม อาจมีเสียงหายใจดังวี้ด ๆ ไม่กินอาหาร ไม่ดื่มน้ำ ไม่ดื่มนม มีไข้สูง มักจะซึม หรือหงุดหงิด กระสับกระส่าย เป็นต้น
หากลูกมีอาการเหล่านี้ในช่วงที่ไวรัส RSV ระบาด ควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คอย่างละเอียด แพทย์จะตรวจร่างกาย ฟังเสียงปอด ถ้ามีเสียงวี้ด แพทย์จะพ่นยาขยายหลอดลม รวมถึงการเอ็กซเรย์ปอดในรายที่สงสัยปอดอักเสบ การตรวจหาเชื้อนี้ทำได้ไม่ยาก จะใช้อุปกรณ์พิเศษลักษณะคล้ายก้านสำลียาวๆ เข้าไปป้ายในโพรงจมูก เพื่อส่งไปตรวจหาเชื้อไวรัสคล้ายกับที่ทำในผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดใหญ่ ในปัจจุบันยังไม่มียารักษา RSV โดยเฉพาะ การรักษาอาการติดเชื้อไวรัส RSV จึงต้องรักษาไปตามอาการที่ป่วย คือ ให้ยาลดไข้ ให้ยาแก้ไอละลายเสมหะ ให้ยาลดน้ำมูก ในเด็กเล็กหรือเด็กที่มีอาการหนักอาจต้องนอนโรงพยาบาล ให้น้ำเกลือ ให้ยาขยายหลอดลม ยาละลายเสมหะ เคาะปอด และอาจจะต้องช่วยดูดเสมหะ หรือถ้ามีอาการรุนแรงมากก็จะต้องได้รับออกซิเจนหรือใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจ
หากเด็กมีอาการไม่รุนแรง ก็สามารถกลับไปรักษาตัวที่บ้านได้ด้วยการกินยาลดไข้ ยาละลายเสมหะ และดื่มน้ำเยอะๆ พักผ่อนให้เพียงพอ และในที่สุดร่างกายก็จะสามารถกำจัดเชื้อออกไปได้เอง ทั้งนี้ผู้ป่วยที่เป็น RSV แล้ว สามารถเป็นซ้ำได้หลายครั้ง แต่อาการนั้นก็จะน้อยลง และเนื่องจากในประเทศไทยยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส RSV ทำให้เด็กๆ มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสได้ง่ายในช่วงที่แพร่ระบาดมากโดยเฉพาะสถานที่ที่เด็กอยู่กันมากๆ เช่น โรงเรียนอนุบาลหรือ nursery
ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยให้ลูกน้อยไม่ป่วยจากโรคนี้ คือ การมีร่างกายที่แข็งแรงและรู้จักวิธีหลีกเลี่ยงภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค ด้วยวิธีการล้างมือบ่อยๆ หลังจากทำกิจกรรม หรือก่อนกินอาหาร เพราะไวรัส RSV สามารถติดต่อได้จาก น้ำลาย น้ำมูก ไอ จาม ไม่ควรให้ลูกอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นหวัด โดยเฉพาะหากโรงเรียน หรือ nursery มีการระบาดอยู่ หมั่นทำความสะอาดของเล่นอยู่บ่อยครั้ง
ผู้ป่วยต้องปิดปากหรือใส่หน้ากากอนามัยเวลาไอจามเพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรือเมื่อต้องไปอยู่ในสถานที่ที่มีคนแออัด เมื่อลูกต้องอยู่ในอากาศที่หนาวเย็น ควรทำให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ ถึงแม้ว่าไวรัส RSV จะมีอาการรุนแรงมากกว่าไวรัสหวัดทั่วๆ ไป แต่ถ้ารู้วิธีการรักษาและช่วยกันดูแลสุขภาพลูกน้อยให้แข็งแรง ก็ปลอดภัยจาก RSV ไวรัสวายร้ายตัวนี้ได้ เชื่อว่าไม่เกินความสามารถของฮีโร่อย่างคุณพ่อคุณแม่แน่นอน
เรื่อง : อนุสรา ทองอุไร