ข่าวไอที » CAT จับมือกลุ่มสามารถฯ ลุยตลาดวิทยุสื่อสารดิจิทัลทั่วประเทศ มั่นใจกลางปีหน้าขยายโครงข่ายครบ 1,000 สถานีฐานครอบคลุมทั่วประเทศ รองรับผู้ใช้บริการเพิ่มกว่า 2 แสนราย

CAT จับมือกลุ่มสามารถฯ ลุยตลาดวิทยุสื่อสารดิจิทัลทั่วประเทศ มั่นใจกลางปีหน้าขยายโครงข่ายครบ 1,000 สถานีฐานครอบคลุมทั่วประเทศ รองรับผู้ใช้บริการเพิ่มกว่า 2 แสนราย

29 สิงหาคม 2018
1351   0

CAT จับมือ สามารถดิจิตอล รุกบริการ Digital Trunked Radio System (DTRS) ตั้งเป้าขยายเครือข่าย DTRS ให้ครบ 1000 สถานี ให้บริการทั้งด้านโครงข่ายและเช่าอุปกรณ์สื่อสาร เพื่อศักยภาพในการสื่อสารได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ส่วนใหญ่ทั่วประเทศ ด้วยคุณสมบัติการใช้งานสื่อสาร One to Many สามารถจัดกลุ่มสื่อสารแบบกลุ่มใหญ่ หรือกลุ่มย่อย อย่างปลอดภัยด้วยการเข้ารหัสเฉพาะ มั่นใจจะสามารถขยายฐานลูกค้าได้กว่า 2 แสนราย ทั่วประเทศ ภายในปี 2562 นี้

นายสงบ สังขจินดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มปฏิบัติการสื่อสารไร้สาย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT กล่าวว่า “ CAT อยู่ระหว่างขยายพื้นที่ให้บริการ Digital Trunked Radio System หรือ DTRS บนคลื่นความถี่ 800 MHz. ที่ CAT ได้รับอนุญาตจาก กสทช. เพื่อให้บริการกับผู้ใช้บริการทั่วไปเพียงรายเดียวในประเทศไทย โดยล่าสุดได้ร่วมกับ SISC Consortium ของกลุ่มบริษัทสามารถ ขยายโครงข่าย DTRS เพิ่มอีกจำนวน 1000 สถานีภายในปี 2562 เพื่อให้สามารถรองรับการใช้บริการได้ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ทั่วประเทศ ซึ่งบริการ DTRS จะเหมาะกับการใช้งานติดต่อสื่อสารแบบกลุ่ม โดยสามารถกระจายข่าวสารระหว่างผู้ใช้งานในกลุ่มเดียวกันหรือข้ามกลุ่มกันได้ ทำให้ผู้ใช้งานได้รับข้อมูลข่าวสารเดียวกันและพร้อมกันทันทีในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ CAT มั่นใจว่ามีผู้ต้องการใช้บริการ DTRS อีกเป็นจำนวนมากเมื่อขยายโครงข่ายเรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าจะมีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นถึงกว่า 2 แสนราย

DTRS หรือ วิทยุสื่อสารในระบบดิจิตอล เป็นระบบสื่อสารที่มีความปลอดภัยสูง โดยการรับส่งข้อมูลต่างๆ จะมีการกำหนดช่องสัญญาณเฉพาะและสามารถเข้ารหัสข้อมูลเพื่อความปลอดภัยยิ่งขึ้น ให้ความสะดวกในการใช้งานได้แบบ One to Many โดยสามารถจัดกลุ่มสื่อสารทั้งกลุ่มใหญ่ หรือกลุ่มย่อย หรือแม้การจัดช่องเพื่อการสื่อสารเฉพาะบุคคล โครงข่ายระบบ DTRS นอกจากนำมาใช้งานทั่วๆ ไปในสภาวะปกติแล้ว ยังสามารถนำมาใช้งานได้ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินและจากภัยพิบัติต่างๆ อีกด้วย สำหรับตัวเครื่องวิทยุยังมีคุณสมบัติที่มีความทนทานสูงและบางรุ่นเป็นแบบป้องกันการเกิดประกายไฟจึงเหมาะสมกับการใช้งานภาคสนาม หรือในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่ต้องมีระบบสื่อสารที่ปลอดภัยต่อการใช้งาน นอกจากนั้น DTRS ยังมีคุณสมบัติพิเศษ เช่น ส่งข้อมูลแยกเฉพาะกลุ่ม มี GPS แจ้งระบุตำแหน่งและความเร็วในการเคลื่อนที่ของตัวเครื่องแบบ Real Time เพื่อใช้ในการควบคุมและแจ้งเตือน รวมถึงคุณสมบัติ Man Down เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับผู้ที่ปฏิบัติงานในบริเวณที่มีความเสี่ยงต่อการขาดอากาศหายใจ เป็นต้น
สำหรับกลุ่มผู้ใช้บริการระบบ DTRS ที่ CAT ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคกลาง ซึ่งมีทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงกลั่นน้ำมัน ขนส่ง หน่วยงานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย สนามกีฬา(บุรีรัมย์) และการเช่าใช้งานเป็นครั้งคราวในภารกิจต่างๆ เป็นต้น หลังจาก CAT ขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว จะทำให้การขยายการใช้บริการ DTRS จะทำได้ครอบคลุมและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น และคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการทั้งองค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ธุรกิจเอกชน กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มธุรกิจบริการต่างๆ เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับโลจิสติก นิคมอุตสาหกรรม โรงพยาบาล ศูนย์กู้ภัยและบริษัทรักษาความปลอดภัย เป็นต้น ซึ่ง CAT มั่นใจว่าองค์กรเหล่านี้ยังมีความต้องการและจำเป็นต้องใช้งานวิทยุสื่อสารระบบ DTRS อีกเป็นจำนวนมาก

นายสงบ กล่าวว่า “การที่ CAT ร่วมมือกับ SISC Consortium จะช่วยเร่งการขยายเครือข่ายวิทยุสื่อสารระบบ DTRS โดยติดตั้งอุปกรณ์เข้ากับโครงข่ายเดิมที่มีอยู่แล้วทำให้การขยายโครงข่ายรวดเร็ว เพื่อการพัฒนาระบบ ได้อย่างทั่วถึงในระดับตำบลทั่วประเทศ โดยคาดว่าจะสามารถขยายสถานีได้ครบ 1000 สถานี ภายในกลางปี 2562 อย่างแน่นอน พร้อมกับได้เตรียมทีมงานทั้งด้านดูแลเทคนิคและการบริการหลังการขาย ไว้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าแต่ละองค์กรที่มีความหลากหลาย ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดต่อรับข้อมูลได้ผ่าน CAT Contact Center โทร. 1322”