ข่าวไอที » ไอทีพีซี จัดเสวนา “Bullying & Fake News ทันเกมสารพัดพิษออนไลน์สังคมไทย”

ไอทีพีซี จัดเสวนา “Bullying & Fake News ทันเกมสารพัดพิษออนไลน์สังคมไทย”

22 สิงหาคม 2019
708   0

นายณัฐพล ศรีภิรมย์ ประธานชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย หรือ ไอทีพีซี (ITPC) กล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรงของข่าวปลอมและการกลั่นแกล้งกันบนโลกออนไลน์ มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นส่งผลกระทบหลายภาคส่วนของสังคมไทยในทุกระดับ จัดเป็นอีกหนึ่งภัยคุกคามรูปแบบหนึ่ง ที่ใช้กระบวนการสื่อสารของมนุษย์ และกลไกปฏิสัมพันธ์ของสังคม ทั้งในแบบออฟไลน์ ออนไลน์

ชมรมฯ เห็นถึงภัยในรูปแบบใหม่ที่เริ่มแผ่ขยาย สร้างปัญหาซับซ้อนมากขึ้นในสังคมประเทศไทย จากบทบาทที่เพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและการเข้าถึงระบบสื่อสารโทรคมนาคม ปัญหาภัยร้ายคุกคาม ทั้ง 2 เรื่อง ชมรมนักข่าวสายไอที จึงเปิดเวทีเสวนา ในหัวข้อ “Bullying & Fake News ทันเกมสารพัดพิษออนไลน์สังคมไทย” โดยมีนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ประกอบด้วย บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค, บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ ทรู, บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส เพื่อระดมความคิดจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ค้นหาแนวทางการแก้ไข การสร้างเครื่องมือ การสร้างความตื่นรู้ จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

“การกลั่นแกล้ง ข่าวลวง ข่าวปลอม เราจะทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายตื่นรู้กับภัยใกล้ตัว ให้รับมืออย่างเท่าทันในยุคชีวิตดิจิทัลที่ทุกคนเลือกเสพสื่อออนไลน์ ใช้สื่อออนไลน์สื่อสารแทนตนเองกับผู้คนเป็นหลัก แต่เราจะทำอย่างไรที่รับมือ รู้เท่าทันกับเนื้อหาที่สร้างขึ้น จะสกัดกั้น ในแบบไหน กฎหมายต่างๆที่มีอยู่จะป้องปรามไม่ให้ปัญหานี้ ส่งผลร้ายแก่ผู้ใช้ หรือ สร้างปัญหาในการอยู่ร่วมบนโลกออนไลน์ และชีวิตประจำวันได้อย่างมีสุขภาวะที่ดี”

นอกจากกิจกรรมจิบน้ำชา ไอทีพีซี ในช่วงครึ่งปีหลัง 2562 นี้ ยังได้ทำกิจกรรมร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในโครงการเสริมสร้างพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างสร้างสรรค์และรู้เท่าทันเทคโนโลยี โดยมี 1. ห้องเรียนไอทีสาธารณะสัญจร “ไอทีพีซีสัญจร : ข่าวไอทีสร้างสรรค์” 2. อบรมเชิงปฏิบัติการ “พิราบดิจิทัล” และ 3. โครงการประกวดข่าว “ไอทีพีซี อวอร์ด” (ITPC Award 2562) เพื่อเสริมสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการรายงานข่าวไอที อย่างสร้างสรรค์ การสร้างกลไกการตื่นตัวจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้สามารถรู้เท่าทันและใช้อย่างสร้างสรรค์ เกิดสุขภาวะที่ดีต่อตนเองครอบครัว และสังคมรอบตัว รวมถึงการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพการรายงานข่าวให้นำเสนอข่าวด้านไอที อย่างสร้างสรรค์ เพื่อสุขภาวะที่ดีอีกด้วย

ประธานไอทีพีซีแนะทักษะรู้ทัน

นายณัฐพล กล่าวว่า ทักษะการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล  รู้ทันภัยออนไลน์ ผู้ใช้งานต้องรู้จักการเข้าถึงสื่อหลากหลายแหล่งหลากหลายรูปแบบเพื่อเปรียบเทียบเนื้อหาข้อมูล แล้วคิดวิเคราะห์ตรวจสอบ  ประเมินคุณค่าประโยชน์จากเนื้อหาที่ได้รับนั้น ไม่ควรปักใจเชื่อในสิ่งที่ได้รับ  ควรพิจารณาเนื้อหา ข้อความ ภาพ  วิดีโอคลิป ที่ถูกส่งต่อ หรือ ได้รับนั้นเป็นประโยชน์ต่อตน ต่อสังคมส่วนรวม สร้างองค์ความรู้กับการบอกต่อ หรือแชร์ถึงผู้อื่นในสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือไม่  หากผู้ใช้ปฏิบัติในลักษณะนี้ได้ ก็จะเกิดเท่าทันทางสื่อดิจิตอลมากขึ้น

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดในขณะนี้ กับปัญหา Cyber bullying   คือ การละเมิดเด็ก เยาวชนบนโลกออนไลน์  ตั้งแต่เรื่องการครอบครอง การซื้อขาย การแลกเปลี่ยนภาพโป๊เด็ก ล่วงละเมิดทางเพศ การโพสภาพประจานด่าทอเสียดสีซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก  ซึ่งส่วนใหญ่มักคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่หลายคนทำกันหรือเข้าใจว่าเป็นเรื่องส่วนตัว  สิทธิของการเป็นผู้ปกครอง  ในการอยากสื่อสารความน่ารัก  ความสดใส ในสังคมได้รับรู้ เห็น ในพัฒนาการ โดยบางครั้งอาจจะเกิดผลเสีย ผลกระทบตามมา หรือ กระทบต่อเด็กในอนาคตข้างหน้า

บนโลกออนไลน์ ต้องรู้จักรักษาความเป็นส่วนตัวข้อมูล   สิทธิ์ในการเผยแพร่มิให้กระทบถึงบุคคลอื่นบุคคลที่สาม บุคคลใกล้ชิด และควรรู้จักการบริหารจัดการในด้านการสื่อสารทางอารมณ์ของตนเองบนโลกออนไลน์เพื่อป้องกันมิให้การสื่อสารทางภาษา ข้อความ รูปภาพ  น้ำเสียง  วีดีโอคลิป  ให้กระทบต่อผู้อื่น  และชี้ชวนให้ผู้อื่นคิดเห็นคล้อยตาม  โดยปราศจากข้อเท็จจริง  เนื้อหา เรื่องราวที่สมบูรณ์

“ทรู” สู้ภัยร้าย สร้างตื่นรู้

นางพิมลพรรณ ศิริวงศ์วานงาม ผู้อำนวยการ สายงานสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์การตลาด บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า กลุ่มทรู ในฐานะผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลแบบครบวงจร และเป็นผู้ให้บริการเครือข่าย ตระหนักถึงหน้าที่ ความรับผิดชอบในการร่วมกันแก้ไขปัญหา Cyber Bullying และ Fake News ที่เป็นปัญหาใหญ่ สมควรต้องร่วมกันแก้ไขอย่างเร่งด่วนและจริงจัง เพราะส่งผลกระทบทั้งในระดับบุคคล องค์กร และประเทศได้ โดยในส่วนของกลุ่มทรูนั้น นอกจากทางด้านเทคนิคที่มีโปรแกรม White Net คัดกรองเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งการทำแคมเปญ หยุดโกหกบนโลกอินเทอร์เน็ตในกลุ่มพนักงานแล้ว ยังได้ร่วมสร้างความตระหนักรู้ เพิ่มภูมิคุ้มกันผ่านโครงการในระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับเยาวชนที่มีโอกาสถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ได้ กลุ่มทรู ได้ร่วมกับกสทช. จัดอบรมหลักสูตร “รู้ทันโลกออนไลน์” ตระเวนให้ความรู้เด็กในสถานสงเคราะห์ตามจังหวัดต่างๆ ขณะที่ระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญในโลกยุคดิจิทัล กลุ่มทรู ได้เปิดโอกาสให้นิสิต – นักศึกษา สร้างสรรค์ผลงานเข้าร่วมประกวด ภาพยนตร์โฆษณาเพื่อสังคม (True Young Producer Awards) หัวข้อ “Stop Cyberbullying หยุดทำร้ายกันบนโลกออนไลน์” ชิงทุนการศึกษา โดยนำผลงานรณรงค์เผยแพร่ทางโทรทัศน์ และสื่อสังคมออนไลน์

อีกทั้งในระดับบุคคลทั่วไป เราได้มีการสร้างสรรค์เพลงเพื่อใช้ในการสร้างความตระหนักรู้เรื่องนี้โดยเฉพาะ เช่น เพลง “คิดก่อน Like (ร้าย)” ให้เกียรติขับร้องโดยพี่ปั่น ไพบูลเกียรติ เขียวแก้ว และเพลง “กดไลค์ กดแชร์” ขับร้องโดยศิลปินทรู เอเอฟ. นอกจากนี้ เรายังได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ที่ถูกกระทำหรือเป็นเหยื่อจาก Fake news จนเกิดมีภาวะซึมเศร้า ไม่อยากอยู่ในโลกนี้อีกต่อไป โดยกลุ่มทรู ได้ร่วมกับร.พ.สมเด็จเจ้าพระยาในพระราชูปถัมภ์ฯ จัดโครงการประกวดหนังสั้น 130 ปี หลังคาแดง หัวข้อ “ภาวะโรคซึมเศร้า” รวมทั้งเตรียมทำแคมเปญที่จะให้คำปรึกษาด้านจิตเวช แบบออนไลน์ อีกด้วย”

“ทั้งนี้ การแก้ปัญหา Bullying และ Fake News เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ไขอย่างเร่งด่วนและจริงจัง โดยกลุ่มทรู ได้ผนึกกำลังกับสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ จัดตั้งโครงการ “ชัวร์แล้วแชร์ได้” โดยมีสมาชิก 18 สำนักข่าวที่เป็นสื่อหลักและมีความน่าเชื่อถือ ทั้งสื่อโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ ไปจนถึงสื่อโซเชียลมีเดีย ช่วยตรวจสอบ คัดกรอง ข้อมูลบนโลกออนไลน์ พร้อมเปิดโอกาสให้ชาวเน็ตส่งข้อมูลมาให้ตรวจสอบได้ด้วย”

“ดีแทค” สานใจ Digital Citizens รับมือ

นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า “ข่าวลวง การกลั่นแกล้งรังแกบนโลกออนไลน์ รวมถึง ปัญหาการใช้วาจาเพื่อสร้างความเกลียดชังล้วนเป็นผลกระทบเชิงลบจากการใช้งานโซเชียลมีเดียที่รัฐบาล ธุรกิจแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย องค์กรที่ดำเนินธุรกิจอินเทอร์เน็ต ธุรกิจคอนเทนต์ออนไลน์ รวมถึง ภาคสังคม ต้องร่วมกันแสดงความรับผิดชอบและร่วมสร้างระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพเพื่อรับมือกับความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ดังกล่าว โดยต้องคำนึงถึงการรักษาสิทธิและส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็นที่สร้างสรรค์ ทั้งนี้ กรอบการทำงานร่วมกันควรร่วมเริ่มต้นจากการวิเคราะห์เพื่อให้เข้าใจรากฐานและแนวโน้มของปัญหาที่จะพัฒนาต่อไปในอนาคต โดยมองจากมุมของพลเมืองดิจิทัล หรือ digital citizens เป็นศูนย์กลาง เพื่อในท้ายที่สุดแล้ว ความร่วมมือของทุกภาคส่วนจะช่วยกันสร้างสังคมดิจิทัลที่เข้มแข็งและมีความต้านทาน (digital resilience) ต่อความเสี่ยงดังกล่าวบนโลกออนไลน์”

“เอไอเอส” เปิดภารกิจ “อุ่นใจไซเบอร์

นางสาวนัฐิยา พัวพงศกร หัวหน้าฝ่ายงานนักลงทุนสัมพันธ์และกำกับดูแลการปฏิบัติงาน เอไอเอส กล่าวว่า ในฐานะ Digital Life Service Provider ที่มุ่งมั่นนำเทคโนโลยีมาพัฒนา Digital Infrastructure เพื่อประเทศไทย นอกเหนือจากการทำหน้าที่พัฒนาบริการเพื่อตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของลูกค้าอย่างดีที่สุดแล้ว เรายังให้ความสำคัญกับการสร้างการเติบโตและพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน

ในปีนี้เราได้ประกาศภารกิจ “อุ่นใจไซเบอร์ ที่มุ่งสร้างการตระหนักรู้และปลูกจิตสำนึกความรับผิดชอบการใช้ชีวิตบนโลก Online ในฐานะพลเมืองดิจิทัลด้วยการช่วยยกระดับมาตรฐานความรู้เท่าทัน Digital ด้วยชุดการเรียนรู้ 360 องศาหรือ DQ (Digital Quotient) พร้อมทั้งพัฒนาระบบคัดกรอง Online Content ที่ไม่เหมาะสม ด้วยระบบเทคโนโลยีผ่านบริการ AIS Secure Net และ Google Family Link โดยเรามุ่งมั่นที่จะเป็นแกนกลางในการพัฒนาความรู้ ความสามารถด้าน Digital ของเยาวชนอันจะเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างสังคม Digital อย่างยั่งยืนในอนาคต รวมไปถึงเอไอเอสยังมีเจตนารมณ์ที่จะอุทิศตนเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศชาติ ด้วย Digital Platform ของคนไทยทุกคน ผ่านแนวคิด “ถ้าเราทุกคน คือเครือข่าย