ไลฟ์สไตล์ » Growth Mindset วิธีคิดพาธุรกิจข้ามพ้นทุกวิกฤต

Growth Mindset วิธีคิดพาธุรกิจข้ามพ้นทุกวิกฤต

7 พฤษภาคม 2020
681   0

ในโลกการทำงานขององค์กรยุค Digital Transformation ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ไม่มีความแน่นอนของเศรษฐกิจ หรือแม้แต่โรคระบาดที่อาจผุดขึ้นอย่างในวันนี้ ความท้าทายขององค์กรและธุรกิจที่มีมากขึ้นกว่าแต่ก่อน หลายอาชีพ หลายอุตสาหากรรมไม่สามารถทำงานด้วยวิธีเดิมๆ ได้ เมื่อ New Normal อันเปรียบเสมือนโลกใหม่ที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ความคิด และพฤติกรรมคนเราทั้งหมดกำลังเข้ามากระทบทุกอุตสาหกรรมอยู่ในขณะนี้

 

อริญญา เถลิงศรี Chief Capability Officer & Managing Director – SEAC ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน  สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกระตุ้นให้องค์กรมากมายตัดสินใจลุกขึ้นมาทรานส์ฟอร์มตัวเอง เพื่อก้าวให้ทันโลกที่หมุนไว องค์กรในวันนี้ต้องปรับตัวให้เร็ว ทันตลาด และทันต่อพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในแวดวงธุรกิจ คนกำลังพูดถึงการเติบโตแบบ 10 เท่า ไม่ใช่แค่ 10% เหมือนอย่างในอดีต

แต่เป็นที่รู้กันดีว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นมาพร้อมวิกฤตและโอกาส ลำพังเพียงแค่ความรู้และประสบการณที่สั่งสมมาไม่อาจทำให้องค์กรเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เราไม่สามารถรู้ชัดว่าจะเปลี่ยนไปทางไหนเพราะทุกอย่างคือ New Normal เรารู้เพียงแต่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างกำลังเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว องค์กรต้องอาศัยการลงมือทำ ลองผิดลองถูก และเรียนรู้พัฒนาไปอย่างต่อเนื่องด้วยความเร็ว หลายองค์กรสรรหาเครื่องมือต่างๆ ใหม่ๆ ไปใช้ในการปรับปรุงกระบวนการ แต่เครื่องมือเหล่านั้นจะไม่มีประสิทธิผลหากบุคคลากรที่ทำงานอยู่ขาดทักษะในการคิด มีวิธีคิดที่ไม่สามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ตรงจุดได้ และจะฉุดรั้งการเติบโตขององค์กรในที่สุด

แล้วเราควรทำอย่างไร? ถึงเวลาที่ผู้นำต้องนำวิธีคิดอย่าง Growth Mindset หรือแนวคิดแบบเติบโต เข้าไปปรับใช้และปลูกฝังให้กับคนในองค์กร หากองค์กรใดมีบุคคลากรส่วนใหญ่ที่มี Growth Mindset ก็จะทำให้โอกาสที่องค์กรสามารถพัฒนาทั้งธุรกิจและนวัตกรรมให้เติบโตอย่างต่อเนื่องจะเป็นจริงได้ เพราะทุกคนมีวิธีคิดและมองว่าทุกปัญหาที่เข้ามาไม่ใช่อุปสรรคแต่เป็นความท้าทาย ไม่เกรงกลัวต่อการเผชิญกับวิกฤต อุปสรรค รวมถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในขณะเดียวกันแต่ละคนคนในองค์กรก็มุ่งมั่นพัฒนาตนเองและคนรอบข้างให้ดีขึ้นกว่าเมื่อวานโดยไม่ต้องรอคำสั่งของหัวหน้าหรือเจ้านาย ด้วยความเชื่อที่ว่าทุกคนต่างก็เติบโตและพัฒนาขึ้นได้อีก

จากการศึกษาของ Neuro Leadership Institute พบว่า ความสำเร็จของทรานส์ฟอร์มองค์กรนั้นขึ้นอยู่กับผู้บริหารและผู้นำองค์กรที่มีพื้นฐานของ Growth Mindset จะปลูกฝังวิธีคิดที่พร้อมปรับตัวกับสถานการณ์ที่ตัวเราไม่คุ้น ทดลองสิ่งใหม่นอกกรอบเดิมๆ เรียนรู้จากความล้มเหลวให้กับบุคลากรในองค์กร สิ่งนี้คือกุญแจดอกแรกที่จะไขไปสู่การทรานส์ฟอร์มองค์กรที่ประสบผลสำเร็จ หากต้องการกระตุ้นการเติบโตขององค์กร ผู้นำต้องให้ความสำคัญกับการสร้างวิธีคิดของ “คน” ในองค์กรก่อนเป็นอันดับแรก ตลอดจนพัฒนาไปเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ถูกต้องและโปร่งใส

เมื่อกล่าวถึงคำว่า Growth Mindset หรือแนวคิดแบบเติบโต ผู้นำองค์กรส่วนใหญ่เข้าใจว่า Growth Mindset คือเครื่องมือพัฒนาเฉพาะกลุ่มดาวเด่น หรือคนที่มีผลงานดีอยู่แล้วเท่านั้น โดยมีความเข้าใจเพียงผิวเผินว่า วิธีคิดนี้จะช่วยพัฒนาศักยภาพและผลักดันบุคลากรให้ทำงานได้อย่างยืดหยุ่น รวดเร็ว และคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ แต่ในทางปฏิบัติจริง กลับไม่สามารถทำให้ทุกคนในองค์กร รวมถึงตัวผู้นำเองมี Growth Mindset ได้ ทั้งนี้ ควรรู้เท่าทัน 2 กับดักทางความคิดต่อไปนี้ที่กำลังปิดกั้นตัวคุณ ขัดขวางโอกาส และฉุดรั้งธุรกิจให้ย่ำอยู่กับที่

 

1.หยุดหลอกตัวเองว่า “คุณกำลังมี Growth Mindset“

เมื่อไหร่ที่เสียงในหัวกำลังบอกว่า ‘ฉันมีวิธีคิดเช่นนี้อยู่แล้ว ไม่ต้องเรียนรู้อะไรอีกแล้ว’ นี่เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณยังไม่เข้าใจเรื่อง Growth Mindset อย่างแท้จริง เพราะความคิดเหล่านี้มีแต่จะหยุดและรั้งไม่ให้ตัวคุณก้าวไปสู่จุดที่สูงขึ้น หากจะเริ่มต้นพัฒนา Growth Mindset บุคคลนั้นจะต้องมีทัศนคติที่รู้จักถ่อมตนและกล้ายอมรับว่าตนเองยังไม่รู้ จงเป็นเหมือนน้ำครึ่งแก้วที่พร้อมเปิดรับเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และอัพเดตทักษะให้ก้าวทันโลกอยู่เสมอ นี่คือบันไดขั้นแรกที่จะทำให้บุคคลหนึ่งเติบโต

นอกจากนี้  หากจะปลูกฝัง Growth Mindset ให้กับคนในองค์กร คงไม่ใช่แค่จัดประชุมให้ความรู้กับพนักงานว่า Growth mindset คืออะไร และต้องคิดแบบไหนถึงเรียกว่าเป็นผู้มีวิธีคิดลักษณะนี้ แต่ทักษะเหล่านี้ต้องลงลึกไปถึงการนำไปฝึกใช้จริงในชีวิตทุกวันจนเชี่ยวชาญและเกิดเป็นทักษะใหม่ติดตัวขึ้นมา

ทั้งนี้ หากผู้นำองค์กรเริ่มต้นทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง พัฒนาและฝึกฝนวิธีคิดแบบ Growth Mindset ก่อน ก็ถือเป็นก้าวแรกแห่งความสำเร็จเป็นเหมือนต้นแบบให้กับบุคลากรในองค์กรจนสามารถถ่ายทอดวิธีคิดดังกล่าวไปสู่คนในองค์ทุกระดับ

 

2.หยุดมองว่า “ความล้มเหลวและความผิดพลาดของคนในองค์กรเป็นคำสาป”

การยอมรับความผิดพลาดและเปิดใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นจากความล้มเหลวคือประตูสู่ความสำเร็จ ไม่เพียงแค่เชื่อว่าตัวเราสามารถพัฒนาศักยภาพและเพิ่มพูนความสามารถได้ แต่ต้องเชื่อด้วยว่ามี talent อยู่ทั่วทุกที่ในองค์กร บุคลากรในองค์กรทุกระดับสามารถเรียนรู้พัฒนาให้เก่งขึ้นได้ หากลูกน้องเราไม่เก่ง เราจะเชื่อว่าเขาจะไม่เก่งตลอดไปแบบนี้ไม่ได้ แต่กลับต้องเชื่อว่า การได้ลงมือทำคือเส้นทางที่ดีที่สุดในการเรียนรู้และเติบโตของบุคคลคนหนึ่ง และสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ทำให้คนในองค์กรเชื่อว่า ความล้มเหลวหรือความผิดพลาดเป็นสิ่งที่ยอมรับกันได้ สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือ หากล้มเหลว ก็ต้องเรียนรู้ ปรับปรุงแก้ไข เพื่อก้าวไปต่อให้เร็ว

Carol Dweck นักวิจัย และพัฒนาด้านจิตวิทยา แห่ง มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้กล่าวว่าการลุกขึ้นจากความล้มเหลวได้อย่างรวดเร็ว และความพยายามในการเรียนรู้จากความผิดพลาด เป็นคุณลักษณะส่วนหนึ่งของ Growth Mindset ซึ่งเป็นลักษณะนิสัยที่สำคัญที่สุดของคนที่ประสบความสำเร็จด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรม

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนกันคือ การสื่อสารและสนทนาอย่างเปิดเผยระหว่างตัวผู้นำและพนักงานอย่างสม่ำเสมอ สอบถามเรื่องสารทุกข์สุขดิบในการทำงาน และสิ่งที่จะปรับปรุงพัฒนาร่วมกัน รวมถึงมองความล้มเหลวให้เป็นเหมือนโอกาสในการเติบโตของคนในองค์กร ทั้งหมดนี้ก็เพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายองค์กรที่วางไว้

Growth Mindset คือวิธีคิดที่ใช้จัดการกับความท้าทายต่างๆ ที่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ ข้าวยากหมากแพง ภัยจากสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคระบาด ธุรกิจต้องกล้าลุกขึ้น ฝ่าวิกฤติ ท้าชนกับทุกปัญหาที่เข้ามาโดยไม่เกรงกลัวที่จะล้มเหลว ไม่หยุดเรียนรู้ในตัวลูกค้า โดยคอยตั้งคำถามอยู่เสมอว่า ‘เรากำลังมองหาโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ผู้ใช้จริงๆ อยู่หรือไม่’ ตลอดจนไม่หยุดยั้งการพัฒนาประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมและน่าจดจำให้กับตัวผู้ใช้ เพื่อวันหนึ่งจะสามารถเติบโตและก้าวไปได้ไกลกว่าขีดความสามารถเคยมี

เปิดโลกแห่งการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองได้แล้วกับ SEAC พร้อมสัมผัสประสบการณ์การเรียนรู้ตลอดชีวิตกับ YourNextU โมเดลการเรียนรู้แบบ Blended Learning ที่ให้คุณเรียนรู้ในรูปแบบไม่มีลิมิต ตั้งแต่วันนี้ ที่ https://www.yournextu.com

 เรื่อง : อนุสรา ทองอุไร