ไลฟ์สไตล์ » ทักษะสำคัญที่คนเป็นผู้นำแบบ Agile ต้อง Reskill

ทักษะสำคัญที่คนเป็นผู้นำแบบ Agile ต้อง Reskill

12 พฤษภาคม 2020
1021   0

 

ในโลกทุกวันนี้ที่ Agile Organization กลายมาเป็นแนวคิดสำคัญสำหรับคนทำงานและองค์กรต่างๆ ที่อยากปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในโลกยุคนี้และในอนาคต เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป รองรับกับความรวดเร็วที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นความท้าทายต่อองค์กรที่ยังคงมีการทำงานในรูปแบบเดิม หรือแบบ Waterfall ที่ต้องตามลำดับขั้นเมื่อต้องออกแบบและสร้างผลิตภัณฑ์หนึ่งเช่นเดียวกับน้ำตกที่ตกลงมาทีละชั้น ซึ่งการทำงานเช่นนี้จะช้าเกินไป แก้ไขความผิดพลาดได้ยาก อีกทั้งยังเปลืองงบประมาณและทรัพยากรขององค์กร ดังนั้น หลายองค์กรจึงปรับวิธีการทำงานเป็นแบบ Agile ซึ่งเน้นการปรับปรุงพัฒนาอยู่ตลอดเวลา เป็นวิธีการทำงานโดยสร้างทีมย่อยๆ เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ ลดระยะเวลาในการทำงาน และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาเมื่อมีปัญหาหรือสถานการณ์เปลี่ยนไป เพื่อตอบสนองต่อลูกค้าได้ทันความต้องการ

อริญญา เถลิงศรี Chief Capability Officer & Managing Director – SEAC ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่าผู้นำองค์กรซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานขององค์กรให้บรรลุเป้าหมายและประสบความสำเร็จจึงต้อง reskill พัฒนาทักษะที่จำเป็น เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนทีม Agile และองค์กรไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด โดยผู้นำแบบ Agile คือผู้ที่มีทักษะการทำงานที่สามารถเชื่อมคนในทีมเข้าด้วยกัน สร้างความสมดุลให้กับคนในองค์กรและความต้องการของลูกค้าได้ และยกระดับประสิทธิภาพการทำงานให้มากขึ้น

อีกทั้ง ผู้นำแบบ Agile ต้องมีความสามารถในการปรับเปลี่ยนความคิด โน้มน้าว กระตุ้น และปลุกระดมคนในทีมให้ทำงานจนบรรลุเป้าหมายเดียวกัน ไม่ใช่มุ่งทำเป้าเฉพาะแผนกงานของตน ผ่านการเรียนรู้พัฒนาให้ดีขึ้นทุกวัน ผู้นำแบบ Agile เป็นเหมือนเข็มทิศในการเดินทางที่ชี้แนะไปยังจุดมุ่งหมายปลายทาง ให้ทุกคนในทีมสามารถเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง

นอกจากนี้ ผู้นำต้องมีการเตรียม mindset ที่ดีด้วย เพราะระหว่างทาง ทีมอาจต้องเผชิญกับปัญหาที่คาดไม่ถึง ทั้งนี้ เพื่อให้องค์กรทำงานแบบ Agile ได้อย่างแท้จริง ผู้นำองค์กรจึงต้องพัฒนาทักษะที่จำเป็นที่จะสนับสนุนวัฒนธรรมและการทำงานแบบ Agile ดังนี้

1.Agile Leadership..

หนึ่งในทักษะสำคัญคือ ภาวะผู้นำแบบ Agile ซึ่งต่างจากภาวะผู้นำทั่วไปอย่างมาก เพราะไม่ใช่การทำงานแบบควบคุมที่สั่งงานแบบลำดับขั้นจากบนลงล่าง แต่เป็นการให้อำนาจในการรับผิดชอบงานเป็นของลูกน้องในทีม สร้างเวทีและบรรยากาศการทำงานที่ผลักดันให้ลูกน้องก้าวขึ้นมาทำในสิ่งที่อยากทำโดยไม่ต้องรอคำสั่งจากหัวหน้า พูดคุยอย่างเป็นกันเอง โปร่งใส่ และจูงใจให้คนทำงานร่วมกันได้ เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนในการตัดสินใจและรับผิดชอบร่วมกัน ความใส่ใจในตัวคนในทีมถือเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าผลลัพธ์ เพราะผู้นำต้องส่งเสริมและสนับสนุนการทำงาน กระตุ้นให้ทุกคนในทีมสามารถบรรลุเป้าหมายร่วมกันได้ ช่วยให้แต่ละคนทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ในขณะที่รู้สึกดีกับหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายด้วย นี่คือบทบาทของผู้นำที่จะบริหารงานแบบ Agile

 

2.Learning Agility..

ผู้นำแบบ Agile ต้องมีความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว กล้ายอมรับว่าตัวเองไม่รู้ ทิ้งความคิดว่าตัวเองเก่ง และเชี่ยวชาญจากประสบการณ์ที่เคยทำสำเร็จมาก่อน ผู้นำเช่นนี้เป็นเหมือนน้ำที่ไม่เคยเต็มแก้ว สามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลาแม้ในสถานการณ์ที่แปลกใหม่ คาดเดายาก และไม่คุ้นเคย สามารถรับมือกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบันได้ นอกจากนี้ ยังสามารถส่งเสริมให้คนในองค์กรเรียนรู้จากความผิดพลาดและพัฒนาทักษะด้วยตัวเอง สนับสนุนคนในทีมมีโอกาสเก็บเกี่ยวประสบการณ์หรือบทเรียนที่แปลกใหม่ พร้อมทั้งให้ข้อมูลสะท้อนกลับ (feedback) กับทุกคนในทีมได้อย่างตรงไปตรงมาและสม่ำเสมอ

3.Critical Thinking..

ปัจจุบัน การคิดแก้ปัญหาได้ไม่เพียงพอกับการทำงานในยุคดิจิตัลอีกต่อไป ผู้นำต้องสามารถคิดวิเคราะห์ปัญหา โดยใช้ตรรกะ เหตุผลมาประเมินปัญหา รวมทั้งตีความข้อมูลต่างๆ รอบด้านที่ได้รับออกมา เพื่อตัดสินใจและประเมินสิ่งที่เป็นประเด็นในขณะนั้นอย่างแม่นยำและทันท่วงที เพราะการคิดที่ถูกจุดนำมาสู่การตัดสินใจที่ถูกต้อง ดังนั้น ทักษะ Critical Thinking จำเป็นอย่างมากในยุคที่เทคโนโลยี และการสื่อสารเข้าถึงได้ง่าย กระแสข้อมูลข่าวสารไหลเข้ามาให้เราทุกวัน เพื่อให้ทันคนอื่น รับมือกับโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้นำจึงต้องพัฒนาทักษะนี้ให้มีติดตัวไว้

4.Solution-focused Coaching…

การโค้ชโดยมุ่งเน้นไปที่วิธีการแก้ปัญหากลายเป็นทักษะสำคัญที่ผู้นำองค์กรแบบ Agile ต้องฝึกฝน เป็นการโค้ชเพื่อกระตุ้นความเข้าใจความเป็นจริงของสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งวิธีคิดที่มีต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นของทีม สนับสนุนให้คนในทีมคิดสร้างสรรค์ทางเลือกและวิธีจัดการกับสถานการณ์นั้นๆ ด้วยตนเอง โดยคอยถามคนในทีมว่าแต่ละคนจะทำอะไรให้มากขึ้นได้บ้าง เมื่อไหร่ที่คนในทีมสามารถระบุปัญหาได้แล้ว ก็จะค้นพบวิธีการแก้ปัญหาจากข้อมูลที่ได้รับจากการประเมินทรัพยากรที่มีอยู่ในขณะนั้น กล่าวคือ เป็นการโค้ชด้วยการกระตุ้นให้คนในทีมรู้จักทำความเข้าใจปัจจุบัน เพื่อแสวงหาทางออกสำหรับอนาคต แก้ปัญหาจากสถานการณ์นั้นๆ และจากการเรียนรู้พัฒนาและต่อยอดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยเพิ่มการตัดสินใจของคนในทีมให้มีมากขึ้น ในที่สุดจะเกิดวัฒนธรรมที่ทำให้เกิดแรงจูงใจ ผู้นำที่มีทักษะการโค้ชเช่นนี้จะช่วยพัฒนาองค์กร ทีม และตัวผู้นำองค์กรเองให้เชี่ยวชาญในสิ่งที่ทำมากขึ้น

5.Digital and Technical Literacy..

ในยุคดิจิตัลแบบนี้ แม้ว่าการทำงานแบบ Agile จะไม่ได้จำกัดเพียงแค่บริษัทในวงการซอฟต์แวร์เท่านั้น แต่ความสามารถด้านความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลก็ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะผลักดันองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็วตามต้องการ ผู้นำในองค์กรแบบ Agile ที่มีศักยภาพต้องเข้าใจเครื่องมือใหม่ๆ ใช้งานเทคโนโลยีเป็น รู้เท่าทันสถานการณ์ปัจจุบัน มองเห็นเทรนด์ และโอกาสทางธุรกิจ ตลอดจนสามารถตีความได้ว่าจะใช้เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับองค์กรเราอย่างไรบ้าง และส่งผลต่อลูกค้าอย่างไร เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจอย่างรอบด้าน ทันต่อเหตุการณ์ และมีประสิทธิภาพ

ในขณะนี้ การเปลี่ยนแปลงองค์กรเป็นเรื่องที่ทุกคนเริ่มให้ความสนใจ เนื่องจากรูปแบบการทำงานเดิมไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป HR ในหลายองค์กรเริ่มมองหาแนวทางการทำงานแบบใหม่อย่าง Agile เข้ามาปรับใช้ ทั้งนี้ แนวทางการทำงานในอนาคตขึ้นอยู่กับผู้นำองค์กร และความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดกำลังคืบคลานเข้ามา ซึ่งกลับไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยี แต่กลับเป็นความคล่องตัวขององค์กร (organizational agility) ที่จะตอบสนองความไม่แน่นอนของโลกการทำงานยุคนี้ วันข้างหน้าจะเป็นโอกาสหรือหายนะต่อองค์กรก็ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้นำ (vision) และทักษะที่ผู้นำองค์กรมีเพื่อขับเคลื่อน Agile Organization

เปิดโลกแห่งการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองได้แล้วกับ SEAC พร้อมสัมผัสประสบการณ์การเรียนรู้ตลอดชีวิตกับ YourNextU โมเดลการเรียนรู้แบบ Blended Learning ที่ให้คุณเรียนรู้ในรูปแบบไม่มีลิมิต ตั้งแต่วันนี้ ที่ https://www.yournextu.com

เรื่อง : อนุสรา ทองอุไร