ไลฟ์สไตล์ » แนวทางฝ่าวิกฤตด้วยทักษะ EI ฉบับผู้นำองค์กร

แนวทางฝ่าวิกฤตด้วยทักษะ EI ฉบับผู้นำองค์กร

28 พฤษภาคม 2020
519   0

จากสถานการณ์ที่ไวรัสโควิด-19 ระบาดเป็นวงกว้างในเวลาอันรวดเร็ว ผู้นำบริษัท ผู้บริหารองค์กรต้องเผชิญกับความท้าทายซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ต้องบริหารทีม บริหารองค์กรเพื่อฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ โดยไม่สามารถคาดเดาสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้เหมือนแต่ก่อน ไม่มีความแน่ชัดว่าการแพร่ระบาดทั่วโลกครั้งนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ เป้าหมายและแผนงานประจำปีที่วางกันมาแต่ต้นปีอาจต้องปรับเปลี่ยนมาเป็นแผนระยะสั้นที่มีความยืดหยุ่น เพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะนี้ เป็นเวลาสำคัญของผู้นำที่เป็นเสมือนหัวเรือใหญ่ แน่นอนว่า มีเรื่องที่ยาก ซับซ้อนและรอการตัดสินใจของผู้นำอยู่อีกมากมาย เพื่อที่จะพาทีม พาองค์กรเดินหน้าฝ่าอุปสรรคไปด้วยกัน

อริญญา เถลิงศรี  Chief Capability Officer & Managing Director – SEAC ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่า การจะมุ่งทำงานหนักอย่างเดียวคงไม่ใช่เรื่องดี กุญแจสำคัญที่ผู้นำต้องมีติดตัวและตระหนักอยู่เสมอเมื่อต้องลุยกับการทำงานอย่างหนักเพื่อข้ามพ้นความท้าทายมากมายที่อยู่ตรงหน้าคือ ทักษะ Emotional Intelligence หรือความฉลาดทางอารมณ์ ดังที่ Richard Trevino ที่ปรึกษา ผู้ให้คำแนะนำแก่องค์กรต่างๆ ในการสร้างภาวะผู้นำแก่บุคลากรในองค์กร

รวมถึงซอฟท์สกิลล์ด้านต่างๆ กล่าวว่า “ความฉลาดทางอารมณ์ เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่องค์กรต้องใส่ใจพัฒนาให้เกิดขึ้นในตัวพนักงาน โดยเฉพาะในระดับผู้บริหาร และผู้จัดการ เพราะผู้นำที่มีความฉลาดทางอารมณ์ จะทำให้ผู้นำจัดการคนในทีมและอารมณ์ที่ขุ่นมัวในช่วงเวลาที่ตึงเครียด เผชิญกับความไม่แน่นอนของไวรัสโควิด-19 นี้ได้อย่างดี สามารถดูแลพนักงานที่มีคุณภาพให้ทำงานกับองค์กรไปได้นานๆ”

ในทางปฏิบัติจริง แม้การจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอาจไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้การฝึกฝนพัฒนาเป็นประจำ ทีละเล็ก ทีละน้อยจนเป็นทักษะที่ชำนาญ แต่ Emotional Intelligence ถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญที่สามารถช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมของความเป็นผู้นำที่ดีได้ จากงานวิจัยพบว่า Emotional Intelligence ส่งผลให้เกิดความสามารถที่ดีในระดับสูงได้ถึง 90% ต่างจากความรู้และทักษะทางด้าน Hard skills อื่นๆ

กล่าวคือ Emotional Intelligent คือความสามารถในการระบุ เข้าใจและจัดการอารมณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงรู้จักรวมข้อมูลกับอารมณ์เข้าด้วยกันและนำไปสู่การตัดสินใจในทิศทางที่ทำให้เกิดคุณค่าสูงสุด ตัวอย่าง Kevin Johnson ซีอีโอของ Starbucks ที่เขียนจดหมายถึงลูกน้องมากกว่า 200,000 คน และใช้กลยุทธ์ Emotional Intelligence เพื่อเอาชนะในช่วงวิกฤตโควิด-19 โดยให้คุณค่า (Empower People) และอำนาจแก่ผู้จัดการในแต่ละพื้นที่ให้สามารถตัดสินใจเองว่าจะเปิดเมื่อไหร่และจะบริหารร้านอย่างไร โดยสำนักงานใหญ่เพียงแต่เตรียมแนวทางหลัก ชุดข้อมูล และการพูดคุยแนะนำเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจของผู้จัดการร้านแต่ละคน คอยส่งเสริมและกระตุ้นแต่ละคนด้วยการชมเชยความสำเร็จและชื่นชมความพยายามของแต่ละคน ให้พื้นที่ในการทำงาน เดินไปข้างหน้า แม้กระทั่งให้พื้นที่สำหรับความผิดพลาดและเดินหน้าต่อ หากสามารถทำเช่นนี้ได้ ผู้นำจะสามารถยกระดับศักยภาพและความสามารถของคนในองค์กรให้ดีกว่าเดิมได้ แน่นอนว่า จะส่งผลดีต่อองค์กรในอนาคตอีกมากมายอย่างแน่นอน

ด้วย 3 เคล็ดลับต่อไปนี้ที่จะช่วยนำทางผู้นำองค์กรฝึกฝนทักษะ Emotional Intelligence ได้ง่ายขึ้นและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดูแลทีมและตัวคุณเองในช่วงเวลาวิกฤตนี้

1.ใช้เวลาฝึกฝนการทำความรู้จักและเข้าใจตนเอง (Self-awareness)

เมื่อกำหนดเป้าหมายขององค์กรแล้ว ผู้นำต้องเข้าใจว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อทุกคนในองค์กร ด้วยสถานการณ์ที่ซับซ้อนและช่วงเวลาที่ยากลำบาก แม้ผู้นำที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพก็อาจถูกครอบงำด้วยอารมณ์ บทบาทของผู้นำที่ดีในเวลานี้ต้องบริหารงาน บริหารคนด้วยความตระหนักรู้และเข้าใจในตนเองก่อน โดยจับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้ทันและตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม

หลักสำคัญของ Emotional Intelligence คือการทำความรู้จักและเข้าใจตนเอง แต่ผู้นำส่วนใหญ่ให้เวลากับเรื่องนี้น้อยมาก หลายครั้งที่ผู้นำมองว่าการทำความเข้าใจตนเองเป็นเรื่องเสียเวลา แต่เราจะทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพได้ดีเมื่อเรารู้จักตนเอง เข้าใจความคิด และการแสดงออกทางอารมณ์ของเราอย่างดี

ในช่วงวิกฤต ผู้นำต้องตระหนักว่าสถานการณ์ในแต่ละวันสามารถกระตุ้นอารมณ์และการตอบสนองที่ไม่มีประสิทธิภาพได้ตลอดวัน ผู้นำจำเป็นต้องคอยเช็คกับตัวเองเป็นประจำ เริ่มต้นจากขั้นตอนง่ายๆ ด้วยการใช้เวลา 60 วินาทีจดบันทึกสิ่งที่ตัวเรารู้สึกนึกคิดในช่วงเช้าก่อนเริ่มต้นวันและหลังจบวัน ถามตัวเองว่า เรามีความรู้สึกกลัว กังวล หรือโกรธอยู่หรือไม่? เขียนอย่างน้อย 2 ความคิดที่วิ่งเข้ามา โดยยังไม่จำเป็นต้องแก้ปัญหาความกังวลเหล่านี้ทันที เพียงแค่รับรู้ว่าขณะนี้ตัวเรารู้สึกนึกคิดอย่างไรก็เพียงพอ จากการศึกษาพบว่า การเขียนและระบุอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองถือเป็นตัดการเชื่อมต่อระหว่างสมองส่วน “อมิกดารา” ที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความวิตกกังวล และช่วยกระตุ้นแกนสมองส่วนหน้า ที่ทำงานเกี่ยวกับการตัดสินใจ เหตุผล ซึ่งจะทำให้รู้สึกผ่อนคลายขึ้นมา

การเผชิญกับสถานการณ์เหล่านี้อาจเป็นเรื่องยาก แต่การรับรู้และทำความเข้าใจอารมณ์ตนเองช่วยให้อารมณ์มั่นคงมากขึ้นและกระตุ้นการเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพสำหรับทีมได้

2.ฝึกฝนความเข้าอกเข้าใจคนในทีม (Social awareness & Empathy)

นักวิทยาศาสตร์ด้านพฤติกรรมศึกษาในเรื่อง Empathy พบว่าเรื่องนี้ต้องเริ่มต้นจากการรับรู้จิตใจของผู้อื่นโดยคิดว่าหากตัวเราเป็นอีกฝ่าย เผชิญกับสถานการณ์ที่อีกฝ่ายกำลังพบเจอเราจะรู้สึกอย่างไร กังวลเรื่องอะไร การสื่อสารของเราก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ผู้นำต้องให้ความสำคัญกับวิธีการสื่อสารของเรากับคนในทีม และการสังเกตน้ำเสียง และท่าทางของคนในทีม ซึ่งสามารถช่วยให้ผู้นำเข้าใจตัวคนในทีมมากขึ้น ยิ่งผู้นำใส่ใจคนที่กำลังพูดคุยด้วยและรับฟังแต่ละคนอย่างตั้งใจมากเท่าไหร่ เราจะเข้าถึงเสียงในหัวของอีกฝ่ายได้มากและทำให้สามารถเข้าใจสิ่งที่อีกฝ่ายกำลังรู้สึกได้อย่างแท้จริง

หากมีการประชุมพูดคุยกับสมาชิกในทีม ผู้นำอาจใช้เวลา 5 นาทีในการจดบันทึกความคิดที่เรารับรู้ได้ว่าอีกฝ่ายกำลังรู้สึกและนึกคิดอะไร ประโยคไหนที่เขาพูดและทำให้เราคิดว่าตัวเขารู้สึกเช่นนั้น จนสามารถระบุความกลัวของสมาชิกในทีม บอกให้เขารับรู้ พูดคุยอย่างเข้าอกเข้าใจ ทั้งนี้ ความโกรธ ความหงุดหงิดเกิดขึ้นจากความกลัว ซึ่งสามารถจัดการได้ด้วยการพูดคุยด้วยความเข้าใจ กล่าวกับแต่ละคนในทีมทุกครั้งว่า “คุณสำคัญสำหรับองค์กรเรา และต่อเป้าหมายที่เรากำลังพยายามทำให้สำเร็จ ตอนนี้คุณรู้สึกอย่างไรบ้าง ทำงานหนักหรือเปล่า”

ในช่วงเวลานี้ ขอให้เป็นผู้นำที่ใส่ใจคนในทีม และบุคลากรในองค์กร ทุกครั้งที่สื่อสารกับแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยสั้นๆ หรือเป็นการประชุมใหญ่นั้นมีความหมาย ลองถามตัวเองว่า “เราทำให้แต่ละคนรู้สึกว่ามีคุณค่าอย่างแท้จริงและรู้สึกได้รับการใส่ใจอย่างเต็มที่หรือไม่” ทำให้ทุกคนที่เราทำงานด้วยรับรู้ถึงความใส่ใจเหล่านี้ และให้กำลังใจกันและกัน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันและผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

3.ปรับวิธีคิด (Mindset)

ความคิด วิธีคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมนั้นเชื่อมโยงกัน การเปลี่ยนแปลงวิธีคิดที่ดีและถูกต้องจะส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะวิธีคิดคือตัวขับเคลื่อนพฤติกรรม และพฤติกรรมส่งผลต่อผลลัพธ์ แต่ Emotional Intelligence จะสามารถช่วยยังยั้งอารมณ์ตอบสนองก่อนที่เราจะแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดีกับผู้อื่น

ตัวอย่างเช่น หากเราเริ่มต้นด้วยความคิดว่า บริษัทเรากำลังเผชิญวิกฤตอย่างหนัก เรารับรู้ได้ก่อนว่าเราเองกำลังรู้สึกโกรธ ท้อแท้ และกลัว ผู้นำที่ไม่มี Emotional Intelligence ไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ความเครียดของตนเองได้ ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่โวยวายต่อคนในทีมอย่างไม่พอใจ ใช้เวลานานกว่าจะตัดสินใจในแต่ละครั้ง ในทางกลับกัน จากสถานการณ์เดียวกันที่บริษัทกำลังเจอกับภาวะวิกฤต ผู้นำเกิดความรู้สึกกลัวเช่นกัน แต่หากผู้นำมีทักษะ Emotional Intelligence ก็จะสามารถจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกตนเองได้ พฤติกรรมที่แสดงออกมาจะเปลี่ยนเป็นปรึกษากับโค้ชส่วนตัว หรือพูดคุยกับกรรมการฝ่ายบริหารคนอื่นๆ เพื่อคิดหาวิธีการจัดการปัญหาอย่างสร้างสรรค์ร่วมกัน

แน่นอนว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของผู้นำที่มีทักษะ Emotional Intelligence ที่ตอบสนองกับวิกฤตต่างๆ นั้นย่อมมีประสิทธิภาพกว่าผู้นำที่ขาดทักษะนี้ ช่วยให้องค์กรข้ามพ้นสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้นไปให้ได้ และความท้าทายเหล่านี้จะกลายเป็นเกราะสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้นำองค์กรธุรกิจ ดังนั้น Emotional Intelligence ถือเป็นทักษะสำคัญสำหรับผู้นำที่ต้องเรียนรู้ฝึกฝน เพื่อปลดล็อคการเติบโตอย่างก้าวกระโดดขององค์กรท่ามกลางวิกฤตที่เกิดขึ้นนี้

เปิดโลกแห่งการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองกับ SEAC พร้อมสัมผัสประสบการณ์การเรียนรู้ตลอดชีวิตกับ YourNextU โมเดลการเรียนรู้แบบ Blended Learning ที่ให้คุณเรียนรู้ในรูปแบบไม่มีลิมิต (Unlimited) ตั้งแต่วันนี้ ที่ www.yournextu.com

 

เรื่อง : อนุสรา ทองอุไร / ภาพ : pixabay