ในห้วงเวลาที่ยังคงมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลก สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรละเลย คือ การออกกำลังกาย แม้ปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่าการออกกำลังกายสามารถช่วยป้องกันโรค COVID-19 ได้ แต่การหมั่นเคลื่อนไหวร่างกายก็จะช่วยให้ร่างกายและจิตใจแข็งแรง พร้อมที่จะฝ่าฟันสถานการณ์นี้ไปได้ แต่หลายคนอาจกำลังสงสัยว่า การสวมหน้ากากขณะออกกำลังกายจะส่งผลเสียต่อร่างกายหรือไม่อย่างไร การรู้เท่าทันข้อมูลที่ถูกต้องจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ช่วยคลายความกังวลใจ และช่วยปรับพฤติกรรมขณะออกกำลังกายได้อย่างถูกวิธี
นพ.ภคภณ อิสรไกรศีล ศัลยแพทย์ด้านผ่าตัดผ่านกล้องข้อเข่าและข้อไหล่ แพทย์เวชศาสตร์การกีฬา สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย (BASEM) โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า การใส่หน้ากาก ขณะออกกำลังกายอาจทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้ เพราะทำให้อึดอัด หายใจลำบาก เหนื่อยง่ายขึ้น ออกซิเจนไม่เพียงพอ ปอดและหัวใจต้องทำงานหนักขึ้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล รวมถึงชนิดของหน้ากากที่สวมใส่ 1.นักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ อาจมีความสามารถในการปรับตัวและทนต่อการหายใจลำบากได้ หากออกกำลังกายแบบไม่หนักสามารถสวมใส่หน้ากาก (Mask) ได้ แต่หากต้องออกกำลังกายที่หนักขึ้นอาจทำให้เหนื่อยง่ายขึ้นได้ เพราะต้องใช้แรงในการหายใจที่เพิ่มมากกว่าปกติ ทำให้ประสิทธิภาพในการออกกำลังกายลดลง 2.ผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ หรือผู้สูงอายุ การสวมใส่หน้ากาก (Mask)ขณะออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายและหัวใจต้องทำงานหนักมากกว่าปกติ โดยเฉพาะในคนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ อาจยิ่งเสี่ยงอันตรายมากขึ้น และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตจากภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้
ชนิดของหน้ากาก หากสวมใส่ขณะออกกำลังกาย
1.หน้ากาก N95 ปกติสวมใส่เพื่อป้องกันอนุภาคเล็กๆ ได้ดี แต่การใส่ N95 แม้ในขณะพูดคุยยังรู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าปกติ หากสวมใส่ขณะออกกำลังกายก็จะยิ่งทำให้รู้สึกอึดอัด ผู้ใส่หายใจลำบาก และเหนื่อยง่ายมากๆ อีกด้วย แม้จะเลือกใช้แบบมี Valve ที่ช่วยหายใจออกก็ตาม
2.หน้ากากอนามัย การใส่หน้ากากอนามัยในขณะออกกำลังกาย จะทำให้รู้สึกอึดอัดและเหนื่อยง่ายได้เช่นเดียวกัน และหน้ากากอนามัยเกิดความเปียกชื้นจากเหงื่อ จะทำให้ลดประสิทธิภาพในการป้องกันลง
3.หน้ากากผ้า การสวมใส่หน้ากากผ้าอาจทำให้หายใจได้สะดวกกว่าแบบอื่นๆ แต่ก็ไม่สามารถกรองฝุ่น PM 2.5 หรือป้องกันไวรัสได้หากได้รับละอองฝอยจากการไอ หรือจามใส่โดยตรง
4.ผ้าคลุมใบหน้าหรือผ้าบัฟ อาจเลือกใช้ผ้าคลุมบริเวณปากและจมูกแทนการสวมใส่หน้ากากได้ ช่วยให้หายใจได้สะดวกกว่า สามารถลดระยะทางการกระจายละอองฝอยได้บ้างหากผู้สวมใส่ไอ จาม แต่ประสิทธิภาพการป้องกันจะไม่เทียบเท่าหน้ากากอนามัย
ทั้งนี้ ในคนที่ชื่นชอบการออกกำลังกายนอกบ้าน เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อและช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อ COVID-19 อาจปฏิบัติได้ดังนี้
1) เลี่ยงสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน รักษาระยะห่างให้มากที่สุดอย่างน้อย 2 เมตร เนื่องจากหากมีคนไอ จาม ละอองอาจไปได้ไกลกว่าปกติจากความเร็วในการวิ่งและลมพัด
2) งดเว้นการจับกลุ่มพูดคุยหรือรวมกลุ่มออกกำลังกาย
3) หากมีอาการ ไข้ ไอ ไม่สบาย ควรพักการออกกำลังกายและงดการออกกำลังกายนอกบ้าน
4) หมั่นประเมินตนเอง และเลือกชนิดการออกกำลังกายที่เหมาะสม
5) หากออกกำลังกายในสถานที่ที่คนไม่พลุกพล่าน ไม่แนะนำให้ใส่หน้ากากขณะออกกำลังกาย 6) รักษาสุขลักษณะทุกเวลา หมั่นล้างมือ ไม่นำมือไปสัมผัสใบหน้า
ในสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อป้องกันและลดการแพร่กระจายของไวรัส COVID-19 การออกกำลังกายที่บ้าน โดยไม่ต้องสวมใส่หน้ากาก ถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เหตุการณ์ COVID-19 ทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวและใช้วิถีชีวิตรูปแบบใหม่ ที่สำคัญอย่าลืมประเมินตนเองอยู่เสมอเพื่อจะได้กลับมาออกกำลังกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปราศจากโรค เพราะการออกกำลังกายช่วยเพิ่มภูมิต้านทานให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรงในระยะยาว รพ.กรุงเทพ ขอฝ่าฟันห้วงเวลาการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้ ไปพร้อมกับทุกคน
เรื่อง : อนุสรา ทองอุไร