ไลฟ์สไตล์ » นำองค์กรด้วยหัวใจอย่างไรในสภาวะวิกฤต (Empathetic Leader)

นำองค์กรด้วยหัวใจอย่างไรในสภาวะวิกฤต (Empathetic Leader)

6 มิถุนายน 2020
793   0

ในช่วงเวลาตึงเครียดและไม่มีความแน่นอนเช่นนี้ วิกฤตครั้งนี้อาจเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายที่สุดของหลายๆ คน โดยเฉพาะผู้นำหรือหัวหน้าที่ต้องพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุดเพื่อพนักงาน แม้ในวันที่ผู้นำไม่สามารถรู้ คาดเดา และตอบได้ทุกเรื่องได้เหมือนเดิม ไม่มีความชัดเจนใดๆ เกี่ยวกับไวรัสโควิดครั้งนี้ เป็นความท้าทายใหม่ที่เราต้องนำพาองค์กรรอดพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปให้ได้ การดูแลความเป็นอยู่ที่ดี ให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานเป็นอันดับหนึ่ง รวมถึงให้กำลังใจเรื่องต่างๆ กลายเป็นบทบาทใหม่ของผู้นำ ต้องใส่ใจมากขึ้นว่าวิกฤตครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อพนักงานอย่างไร เพื่อว่าพวกเขาจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อริญญา เถลิงศรี Chief Capability Officer & Managing Director – SEAC ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่าลองสำรวจให้ดีว่า ผู้นำในองค์กร หัวหน้าทีมในระดับต่างๆ ล้วนมีการเตรียมพร้อมเพื่อจะนำพาองค์กรเดินหน้าต่อในโลกที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน ไม่แน่นอน และเปราะบางเช่นนี้ดีแล้วหรือยัง? แม้ผู้นำหลายคนคาดหวังที่จะนำทีมอย่างมีประสิทธิภาพ แต่อาจเกิดคำถามว่าจะทำอย่างไร และเริ่มต้นจากตรงไหน ธุรกิจจะปรับตัวอย่างไรต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกวันนี้ และจะตอบสนองต่อ New Normal ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้อย่างไร

Ed Mitzen ผู้ก่อตั้งบริษัทเอเจนซี่การตลาดด้านสุขภาพ และผู้เขียนหนังสือลง Forbes book กล่าวว่า “ส่วนสำคัญที่สุดในช่วงเวลาที่ไม่มีความแน่นอนเช่นนี้คือ การแสดงความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) ต่อพนักงาน และการตอบสนองต่อพนักงานในช่วงเวลาแบบนี้บ่งบอกได้เลยว่าพวกเขาป็นผู้นำแบบไหน” เขาเน้นย้ำว่า “นี่คือช่วงเวลาที่ผู้นำต้องแสดงความเข้าอกเข้าใจต่อพนักงาน สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง และขับเคลื่อนประสิทธิภาพและผลลัพธ์ขององค์กรให้ได้” ดังนั้น พนักงานในองค์กรต้องการผู้นำที่มี “หัวใจ” รับฟัง ใส่ใจ เข้าใจแต่ละคนอย่างแท้จริง และนำพาองค์กรเดินหน้าไปอย่างมีคุณค่า

5 แนวทางต่อไปนี้ จะช่วยสร้างผู้นำยุคใหม่ที่จะนำพาองค์กรด้วยหัวใจเพื่อฝ่าวิกฤตไปให้ได้

1.นำองค์กรด้วยการสนับสนุน ไม่ใช่ด้วยการบังคับ

วัฒนธรรมองค์กรที่ดีเริ่มต้นจากผู้นำ ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้นำส่งเสริมพนักงานและช่วยยกระดับศักยภาพพนักงานให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด แน่นอนว่า ย่อมดีกว่าการบังคับให้พนักงานทำงานหนักมากขึ้น พนักงานจะรู้สึกหมดไฟเมื่อทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างหนักเป็นระยะเวลานาน บางครั้ง การให้ความสำคัญเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงานให้มากขึ้นกว่าชีวิตการทำงานจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีกว่า เพราะเมื่อไหร่ที่เรามีลูกน้องที่ดี เราไม่จำเป็นเลยที่จะคอยบีบคั้นพวกเขาด้วย deadline เพื่อที่จะได้งานที่มีประสิทธิภาพ

2.สร้างทีมผู้นำและผู้เล่นในทีมที่มีหัวใจ

องค์กรธุรกิจเป็นเสมือนทีมนักกีฬา โดยมีพนักงานในองค์กรเป็นผู้เล่นในทีม เพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มีหัวใจ ผู้นำองค์กรหรือหัวทีมจำเป็นต้องใส่ใจแต่ละคนในการทำงานร่วมกัน มุ่งเน้นการสร้างทีมที่รวมกลุ่มหัวหน้าทีมที่บริหารทีมด้วยหัวใจ นี่คือกุญแจสำคัญ พนักงานบางคนที่เก่ง มีความสามารถมาก แต่กลับไม่สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นๆ ในองค์กรได้ มีเพียงแต่จะทำลายความเป็นทีม บั่นทอนกำลังใจในการทำงานร่วมกัน ส่งผลทำให้เกิดผลลัพธ์การทำงานที่ไม่ดีนัก ดังนั้น ผู้นำองค์กรจำเป็นต้องมองให้ลึก เพื่อรวมกลุ่มคนที่มีหัวใจเป็นทีมเดียวกัน และขับเคลื่อนองค์กรทั้งองคาพยบไปข้างหน้าอย่างมั่นคง

3.สร้างวัฒนธรรมองค์กรและการทำงานที่ดี

การแสดงความเข้าอกเข้าใจในตัวพนักงานเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะขับเคลื่อนความคิดสร้างสรรค์และประสิทธิภาพในการทำงาน วัฒนธรรมองค์กรมีผลต่อคนที่จะมาทำงานให้กับบริษัท มีผลต่อการตัดสินใจของพนักงานว่าจะทำงานเพื่อองค์กรนี้ไปนานแค่ไหน รวมถึงคุณภาพของงานที่พวกเขาทำส่งออกมา ซึ่งวัฒนธรรมหลักที่องค์กรต้องมี คือ วัฒนธรรมแห่งการทำ Empathy โดยเริ่มต้นกับพนักงาน และขยายวงกว้างออกไปสู่ลูกค้า และชุมชนที่อาศัยอยู่ วัฒนธรรมองค์กรที่ดีและแข็งแรงจะช่วยกระตุ้นการทำงานของพนักงาน และผลงานที่ลูกค้ากำลังจะได้รับ องค์กรที่มีวัฒนธรรมแห่ง Empathy คนในองค์กรจะมอบประสบการณ์และสิ่งดีๆ ให้กับลูกค้าเช่นเดียวกับที่พวกเขาได้รับจากองค์กร ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมส่งผลดีต่อองค์กรในระยะยาว

4.การสื่อสารคือหัวใจ

ในช่วงเวลาวิกฤตที่หาความแน่นอนไม่ได้เช่นนี้ ความเงียบคือศัตรูที่จะขัดขวางการทำงานให้ติดขัด ไม่ราบรื่น องค์กรธุรกิจจำเป็นต้องสื่อสารอย่างสม่ำเสมอและชัดเจนกับพนักงาน เมื่อต้องทำงานในช่วง social distancing ความกลัวและความกังวลใจสามารถเข้าแทรกได้ ผู้นำอาจส่งข้อความประจำวันเข้าไปในองค์กร ส่งถึงพนักงานเพื่อให้กำลังใจ การส่งเสริมกำลังใจกันและกันอาจเป็นในรูปแบบของการส่งข้อความ อีเมล์ หรืออัดวิดิโอส่งเข้าไป หรือหากมีการประชุมทีมพนักงานประจำวัน ก็สามารถเริ่มส่งข้อความและวิดิโอเหล่านั้นเข้าไปผ่าน virtual meeting ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย ช่วยให้พนักงานแต่ละคนสามารถแบ่งปันความกังวลกับผู้นำได้ โดยไม่รู้สึกว่าจะมีผลตอบสนองที่ไม่ดีกลับไป

5.ทักษะสำคัญของผู้นำทีม Engage, Empower, Execute

ผู้นำทีมจำเป็นต้องฝีกทักษะที่สามารถเข้าถึงเข้าใจพนักงาน (Engage) เปิดโอกาสให้พนักงานได้ใช้ศักยภาพ (Empower) และสร้างความมุ่งมั่นในการทำงาน (Execute) ให้กับทีม รวมถึงผู้ร่วมงาน ทักษะเหล่านี้เชื่อมโยงกับประสิทธิภาพการทำงาน จากผลสำรวจของ Gallup พบว่า หากพนักงานมีความผูกพันกับองค์กร จะช่วยสร้างผลลัพธ์ทางการเงินได้มากกว่าพนักงานทั่วไปสูงถึง 20% ซึ่งพนักงานเหล่านี้จะมีความรู้สึกอยากอุทิศตน และโฟกัสไปกับการสร้างมูลค่าให้กับองค์กรอย่างแท้จริง

โดยตัวผู้นำองค์กรสามารถพัฒนาทักษะนี้ได้ ด้วยการพูดคุยเช็คอินกับทีมเป็นประจำทุกวัน รับฟัง feedback ระบุประเด็นปัญหาที่แต่ละคนพบเจอ ว่างานที่พวกเขาทำเหมาะสมและตรงกับเป้าหมายทิศทางขององค์กรเราหรือไม่ เมื่อทำเช่นนี้ ผู้นำทีมจะเข้าใจสถานะของแต่ละคน สามารถเข้าช่วยเหลือชี้แนะแนวทางได้ทันที เพื่อนำพาองค์กรมุ่งสู่ New Normal ที่กำลังจะเกิดขึ้น

ในสภาวะวิกฤตเช่นนี้ คุณค่าที่สำคัญที่สุดที่องค์กรต้องมอบให้กับพนักงานคือ ความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) ผู้นำองค์กรต้องเริ่มนำองค์ดรด้วยการทำสิ่งที่ถูกต้อง โดยเริ่มต้นจาก “คน” ในองค์กร ดังที่พิธีกรและเจ้าของธุรกิจโทรทัศน์ชื่อดัง หญิงผู้ทรงอิทธิพลของโลก Oprah Winfrey กล่าวไว้ว่า “ความเป็นผู้นำคือเรื่องของความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) กล่าวคือ ความสามารถที่จะเชื่อมโยงคนในองค์กรเข้ากับเป้าหมายที่องค์กรตั้งไว้ได้ เป็นเครื่องมือชั้นเยี่ยมในการกระตุ้นพนักงานและเพิ่มคุณค่าให้กับการใช้ชีวิตของแต่ละคน (Empower their lives)”

เปิดโลกแห่งการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองกับ SEAC พร้อมสัมผัสประสบการณ์การเรียนรู้ตลอดชีวิตกับ YourNextU โมเดลการเรียนรู้แบบ Blended Learning ที่ให้คุณเรียนรู้ในรูปแบบไม่มีลิมิต (Unlimited) ตั้งแต่วันนี้ ที่ www.yournextu.com

 เรื่อง : อนุสรา ทองอุไร