หลายคนอาจเกิดคำถามกับตัวเองว่า ทำไมวิธีการที่เคยใช้ถึงไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่คาดไว้? ทำไมประสบการณ์ไม่สามารถใช้แก้ปัญหาเดิมกับลูกค้ากลุ่มเดิมได้เหมือนเคย? ทำไมไม่สามารถข้ามพ้นอุปสรรคความท้าทายเหล่านี้ได้ด้วยวิธีเดิมที่เคยทำสำเร็จ? ถึงเวลาต้องมาเช็คดูกันสักนิดว่ายังมีจุดบอดตรงไหน ในวันนี้ประสบการณ์ที่สั่งสมมาทั้งหมด หรือวิธีการที่เราใช้มาในอดีตนั้นยังใช้ได้และยังสามารถทำให้เราประสบความสำเร็จได้อีกต่อไปอยู่หรือไม่
โลกที่กำลังหมุนและเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ความปกติใหม่เกิดขึ้นและเข้ามาให้เรารับมืออยู่ตลอดเวลา แทนที่จะเลือกปรับตัว แต่หลายคนอาจยังติดอยู่กับความคิดและพฤติกรรมบางอย่างที่คุ้นชิน ในสถานการณ์ที่โลกทุกอย่างไม่เหมือนเดิม หน้าตาของธุรกิจเปลี่ยนไป ความต้องการของตลาดเปลี่ยนไป พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของคนเปลี่ยนไป อย่างพ่อแม่ที่เมื่อก่อนต้องคุ้นชินกับการซื้อของที่หน้าร้าน ในวันนี้ กลับสามารถสั่งอาหารเดลิเวอรี่ สั่งของออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มกันแล้ว ดิสรัปชั่นที่ได้ยินกันคุ้นหู ส่งผลกระทบทั้งในระดับองค์กร และในระดับบุคคลด้วยเช่นกัน
อริญญา เถลิงศรี Chief Capability Officer & Managing Director – SEAC ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่าคนส่วนใหญ่คุ้นชินกับการเติมความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ เรียนรู้มากขึ้น แต่ไม่เคยทบทวนดูว่าอะไรที่เราสามารถนำมาปรับใช้ได้จริงๆ บ้าง ข้อมูลที่รู้มาส่วนไหนช่วยให้เราเติบโตขึ้น ข้อมูลไหนที่มีประโยชน์กับเราบ้าง เพราะความรู้ในวันนี้หมดอายุเร็วมาก วิชาความรู้ที่เราร่ำเรียนมาจากโรงเรียน จากมหาวิทยาลัยหลายปีที่ผ่านมาไม่อาจใช้ได้ผลในโลกที่หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ดังนั้น เราต้องยอมรับความจริงข้อนี้ และเริ่ม unlearn ไม่ยึดติด ละทิ้งสิ่งที่เคยรู้มา พฤติกรรมนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรายอมเปิดรับมุมมองใหม่เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่เรารู้อยู่แล้ว โดย unlearn นับเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในโลกยุคนี้ อย่างไรก็ตาม unlearn ไม่ได้หมายความเพียงแค่การละทิ้งสิ่งที่เคยรู้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการปฏิเสธความเชื่อของตนที่เคยยึดถือปฏิบัติมาก่อนหน้านี้ หรือเลิกยึดติดกับทฤษฎีที่ใช้กันมายาวนาน
ในความเป็นจริง การ Unlearn คือกลยุทธ์ในการจัดการรับมือการความเปลี่ยนแปลง ที่ทำให้ตัวเราเปิดหนทาง มองหาสิ่งใหม่เพื่อจะทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย ต่อไปนี้จะเป็น 4 แนวทางในการจะเริ่ม Unlearn ให้เป็น
1.เริ่มต้นตั้งคำถามให้กับเรื่องที่เราคิดว่าเรารู้แล้ว และคิดว่าวิธีการที่เราคิดว่าใช่อาจจะไม่ใช่ก็เป็นได้ เป็นการกระตุ้นตัวเราเองให้ลองเรียนรู้หาข้อมูลใหม่ๆ หลายครั้งคนเราอาจจะตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจทำตัวเหมือนเป็นน้ำที่เต็มแก้ว ที่ติดกับความคิดที่คิดว่าเรารู้เรื่องนี้แล้ว ในขณะที่โลกหมุนเวียนเปลี่ยนไปตลอด มีข้อมูลใหม่ๆ ให้อัพเดตเรื่อยๆ แม้เราอาจเคยรู้ แต่ไม่ได้หมายความว่าในวันนี้เรื่องเหล่านั้นจะยังเป็นแบบเดิม ถึงแม้ว่าเราจะได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ มา แต่ทว่าเรายังคงกลับไปใช้กระบวนการเดิม ซึ่งแปลว่ามันก็ไม่มีประโยชน์ที่จะ Learn อะไรใหม่ๆ
2.ทิ้งวิธีคิดเดิมๆ ที่คอยบอกว่าตัวเรารู้แล้ว พฤติกรรมที่เราแสดงออกนั้นมาจากอิทธิพลของวิธีคิดตั้งต้น และหลายครั้งที่กับดักความคิดนี้จะเข้ามาในหัวโดยที่เราไม่รู้ตัว ดังนั้น เราควรเปลี่ยนวิธีคิดตั้งแต่เป็นการบอกว่าเราไม่รู้ เพราะเมื่อเราคิดแต่แรกว่าเราไม่รู้เรื่องนี้ วิธีคิดนี้จะผลักดันให้เราวิ่งหาข้อมูลใหม่ๆ แลกเปลี่ยนความรู้กับผู้คนรอบข้างเพื่อขอคำแนะนำทำให้แตกต่างออกไปจากเดิม ต้องยอมรับให้ได้ก่อนว่าเราไม่ใช่คนที่ฉลาดที่สุด ณ ที่นั้นๆ หรือไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เรายังไม่ใช่คนที่ฉลาดที่สุด ดังนั้น เริ่มต้นหยุดความคิดเคยชินที่คิดว่าเรารู้แล้ว เพราะคุณอาจะไม่รู้จริงๆ หรือไม่ข้อมูลความรู้นั้นก็อาจจะหมดอายุไปแล้ว
3.ท้าพิสูจน์เรื่องที่ในวันนี้เราคิดว่าถูก ที่เราคิดว่าใช่ การตั้งคำถามให้กับความคิดคือวิธีการหนึ่ง แต่กลยุทธ์เด็ดอีกข้อที่พลาดไม่ได้คือการท้าพิสูจน์ หาข้อมูลหลักฐานมาสนับสนุนว่าเราสิ่งที่เราคิดนั้นยังถูกอยู่หรือไม่ การ Unlearn คือการค้นหาความเชื่อและแนวทางใหม่ๆ ตัวอย่างเช่น ในวันนี้ เราอาจเชื่อว่าตัวเราสามารถลดน้ำหนักได้ 10 กิโลในภายหนึ่งเดือน แต่หากมีหลักฐานมายืนยันว่าเรายังทำไม่ได้ สิ่งที่ตัวเราจะทำต่อไปคือ การพยายามหาข้อมูลเพื่อเรียนรู้เพิ่ม ลองทำวิธีต่างๆ จนกว่าเราจะทำได้จริงๆ แม้จะดูเหมือนว่าในช่วงแรกอาจเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยก็ตาม เมื่อเราพิสูจน์และละทิ้งความเชื่อเดิมๆ ไป เราจะแทนที่ด้วยความคิดความเชื่อใหม่ๆ ที่ดีกว่าแทน
4.กล้ายอมรับว่าความคิดเราไม่ได้ถูกเสมอไป แม้จะทำตามทั้ง 3 วิธีข้างต้นแล้ว แต่ความเป็นจริงคือ แม้ความคิด ความเชื่อ สิ่งที่เราคิดว่าถูก ทั้งหมดนี้ในวันนี้กลับไม่ใช่ กลับไม่ถูกต้องอีกต่อไป ถึงเวลาที่เราจะต้องยอมรับ ปล่อยความเชื่อเหล่านั้นทิ้งไป อย่าได้เก็บมาคิดหรือรู้สึกไม่พอใจตนเอง เพราะไม่ได้เกี่ยวกับว่าเรื่องไหนถูก เรื่องไหนผิด แต่ทั้งหมดนี้เกี่ยวกับกลยุทธ์ และแนวทางที่เราจะนำไปลงมือปฏิบัติจริงๆ ให้เกิดผลลัพธ์ การยอมรับว่าตัวเองไม่รู้นั้นดีที่สุด เพราะนั่นหมายถึงเรารู้จักตัวเอง (self-aware) และลดระดับความอีโก้ลง อย่าคิดว่าตนเองรู้เยอะ มีประสบการณ์เยอะ และนี่คือกุญแจปลดล็อคให้เรา Relearn เรียนรู้สิ่งใหม่แทนที่สิ่งเดิมๆ ดังนั้น เราไม่ควรกลัวการเปลี่ยนแปลงหรือละทิ้งที่สิ่งเรารู้ แต่เราควรกลัวความเชื่อเก่าๆ การใช้วิธีการเดิม ทฤษฎีเดิมๆ ที่เคยเรียนมา
เมื่อในวันนี้ พวกเรากำลังอยู่ในสนามแข่งที่ข้อมูลข่าวสารเข้าถึงได้ง่าย แต่สิ่งที่จะทำให้คนหนึ่งเติบโต และแตกต่างได้คือ วิธีคิด ถึงเวลาต้องเริ่มรีเซ็ตตัวเองใหม่ด้วยกระบวนการ Learn หาความรู้เพิ่มเติม, Unlearn ทิ้งสิ่งที่เคยเรียนรู้มาเพราะมันไม่เข้ากับโลกใบนี้เสียแล้ว และ Relearn เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ อย่างไม่สิ้นสุด
เปิดโลกแห่งการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองกับ SEAC พร้อมสัมผัสประสบการณ์การเรียนรู้ตลอดชีวิตกับ YourNextU โมเดลการเรียนรู้แบบ Blended Learning ที่ให้คุณเรียนรู้ในรูปแบบไม่มีลิมิต (Unlimited) ตั้งแต่วันนี้ ที่ www.yournextu.com
เรื่อง : อนุสรา ทองอุไร