เมื่อโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ในแต่ละวันเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารจำนวนมหาศาล ธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ยุคปัจจุบันเป็นยุคที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามากระทบรอบด้าน ด้วยข้อจำกัดและวิธีการศึกษาแบบเดิมๆ ในโรงเรียน ในรั้วมหาวิทยาลัยที่เน้นเรื่องการปูพื้นฐานตามทฤษฎีเป็นหลัก
อริญญา เถลิงศรี Chief Capability Officer & Managing Director – SEAC ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่าเป็นที่น่าสังเกตว่าปัจจุบันความรู้และทักษะของนักศึกษาที่จบออกมาไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ยังขาดทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานจริงในหลายๆ เรื่อง เช่น ทักษะในด้านการบริหารจัดการ ภาวะผู้นำ การแก้ปัญหาหรือตัดสินใจเฉพาะหน้า หรือยังขาดวิธีคิด ซึ่งปัญหาที่ตามมาคือ คนที่ไม่มีทักษะเหล่านี้ไม่สามารถหางานทำได้
เพราะความรู้ที่เรียนมาไม่สามารถใช้ได้ในโลกยุคปัจจุบันที่วันนี้เป็นแบบนี้ พรุ่งนี้เปลี่ยนเป็นอีกอย่างหนึ่งแล้ว คนที่ไม่มีการเติมความรู้ มุมมองใหม่ๆ หรือวิธีคิดใหม่ๆ จะไม่สามารถรับมือได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในสนามการทำงานจริง
ความหมายก็คือ เราจำเป็นต้องเพิ่มเติมทักษะใหม่ๆ อัพเดตความรู้ให้สอดคล้องกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงในตลาด ปรับทักษะพื้นฐานให้มีความพร้อมในการทำงานเสมอ แม้ผู้ประสบความสำเร็จในงานของตนเอง หรือเชี่ยวชาญงานด้านใดด้านหนึ่งแล้ว ก็ยังต้องเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและพัฒนาทักษะอื่นๆ เพิ่มเติมจากการศึกษาในโรงเรียนหรือในมหาวิทยาลัย
แต่การจะทำเช่นนี้ให้สำเร็จได้ สิ่งที่สำคัญคือ เราต้องมีทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง หรือ Self-directed Learning เป็นพื้นฐาน เพื่อผลักดันให้เราเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญมากในยุคปัจจุบันที่ต้องปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่รับรู้มากขึ้น กล่าวคือ เป็นการเรียนรู้โดยไม่ต้องรอใครมาป้อน เราต้องเป็นคนที่จะควบคุมการเรียนรู้ของตนเองได้
แน่นอนว่าเทคโนโลยีดิจิตัลทำให้ความคล่องตัวในการพัฒนาตนเองสำคัญมากยิ่งขึ้น ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายขึ้น เรารอใครไม่ได้แล้ว ใครช้า ใครยังไม่เริ่ม ก็จะตามไม่ทันคนอื่น ถอยหลังลงเรื่อยๆ และไม่สามารถเป็นแรงงานที่มีทักษะตามที่ตลาดต้องการ ถึงเวลาที่ทุกคนต้องถีบตัวเองขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งอย่างจริงจัง บุคคลทั่วไป ทั้งเจ้าของธุรกิจรายย่อย ฟรีแลนซ์ สตาร์ทอัพ พนักงานบริษัท ทุกคนต่างเริ่มตระหนักถึงการพัฒนาตัวเอง โดยไม่ต้องรอให้บริษัทเป็นผู้ส่งไปเทรนนิ่ง แต่ละคนไขว่คว้าหาความรู้อย่างกระตือรือร้น หาวิธีการเข้าถึงหลักสูตรในระดับนานาชาติ รวมไปถึงกลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ต้องตื่นตัวอัพเดทความรู้ต่างๆ ในการนำไปถ่ายทอดให้กับนักศึกษา นี่คือเวลาที่แต่ละคนต้องเริ่มรู้สึกได้แล้วว่า เราจะเรียนรู้อะไร จะพัฒนาอะไรด้วยตนเอง ด้วย 3 แนวทางดังต่อไปนี้จะช่วยพาคุณไปสู่การพัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง (self-directed learning)
ขั้นที่หนึ่ง สร้างโจทย์การเรียนรู้ด้วยตนเองด้วย Growth Mindset
ตัวเราต้องเริ่มเป็นคนกำหนดว่าต้องเรียนรู้เรื่องอะไร เราเป็นคนควบคุมการเรียนของเราเองในแต่ละวันให้ได้ โดย Growth Mindset เป็นพื้นฐานการเรียนรู้พัฒนาตนเอง คนที่มี Growth Mindset จะเชื่อว่าทุกอย่างพัฒนาได้ ไม่เก่งแต่แรกก็สามารถฝึกฝนขัดเกลาได้ ยังไม่รู้เรื่องนี้ก็สามารถเรียนรู้ได้ จะหยิบจับสิ่งรอบตัวขึ้นมาเป็นโจทย์การเรียนรู้ได้ในทุกสถานการณ์ สามารถดึงเอาข้อมูลความรู้ออกมาใช้และเรียนรู้ได้มากที่สุด
ซึ่งต่างจากคนที่มี Fixed Mindset ที่เชื่อว่าเขาเก่งเพราะฉลาดอยู่แล้ว เป็นพรสววรค์ เราไม่รู้เพราะไม่ได้เรียนมา เราไม่สามารถรู้ได้ ทำได้เพราะเรื่องนี้ยากเกินไปสำหรับเรา ตัวอย่างเช่น เมื่อเจ้านายสั่งให้ทำเรื่องนี้ เรื่องยากๆ ที่ไม่เคยทำ โดนสั่งให้ทำโปรเจคแปลกๆ คนที่มี Fixed Mindset จะมองว่า เราควบคุมไม่ได้หรอก ฉันได้โปรเจคมาให้ทำงานนั้นงานนี้ เรียนรู้อะไรไม่ได้หรอก
แต่ความเป็นจริง การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ถ้าเราตั้งโจทย์การเรียนรู้ของตนเองเป็น สิ่งที่เราควบคุมได้คือ การตั้งคำถามว่า “เราจะเรียนรู้อะไรจากการทำเรื่องนี้ โปรเจคนี้ เช่น สื่อสารเก่งขึ้น สร้าง self-confidence สร้าง network มากขึ้น แม้เราจะควบคุมโจทย์ที่เจ้านายสั่งไม่ได้ แต่เราสามารถควบคุมโจทย์การเรียนรู้ของเราได้ ดังนั้น Self-directed learning เริ่มต้นจากการที่เราควบคุมการเรียนรู้ของเรา เราไม่รอให้ใครมากำหนดชะตาของเรา แต่เราต้องเป็นคนกำหนดได้ด้วยตนเองว่าเราอยากจะเรียนรู้เรื่องไหน ไม่ว่าสถานการณ์อะไรก็ตาม
ขั้นที่สอง ตั้งเป้าหมาย รู้ว่าเราจุดไหนที่เราอยากจะไปให้ถึง
เมื่อเราตั้งโจทย์การเรียนรู้เป็น เปิดรับความท้าทายจากสิ่งใหม่ๆ และควบคุมจัดการการเรียนรู้ของเราเองได้แล้ว ขั้นต่อมาคือการตั้งเป้าหมาย หากมีเป้าหมาย รู้ว่าสิ่งที่เรากำลังเรียนรู้จะพาเราไปสู่จุดไหน เราจะรู้สึกมีพลังในการทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ และให้รางวัลตัวเอง การศึกษาไทยส่วนใหญ่จะไม่ได้สอนให้เราตั้งเป้าหมาย แต่จะมีแพลนมาให้ว่าเราต้องเรียนตัวนี้ๆ สอบให้ได้เท่าไหร่ แต่ไม่ได้สอนให้ตั้งคำถามว่าเรามีเป้าหมายอะไร และต้องเรียนรู้อะไรเพื่อให้ไปถึงจุดนั้น เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องยากสำหรับคนไทยว่าเราจะทำอย่างไร
หลายครั้งหลายคนมีความตั้งใจที่จะเรียนรู้ทักษะยอดนิยม เช่น การเขียนโค้ด หรือ Programming แต่สุดท้ายกลับเรียนไม่สำเร็จและล้มเลิกไป นั้นเป็นเพราะพวกเขาไม่รู้ว่าพวกเขากำลังเดินไปจุดไหน จะเรียนไปเพื่ออะไร ส่งผลให้เมื่อไหร่ก็ตามที่พวกเขาเจอโจทย์ที่ท้าทาย หรือเจอทักษะการเรียนรู้ที่น่าสนใจกว่า ก็จะล้มเลิกทักษะปัจจุบันที่กำลังเรียนรู้อยู่และเรียนรู้ไม่สำเร็จ ซึ่งการเพิ่มเติมทักษะที่จำเป็นในการทำงานเพื่อให้ใช้งานได้จริง หรือที่เรียกว่า Reskill นั้น ต้องใช้เวลาในการฝึกฝนจนเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ตัวอย่างการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน เช่น ฉันอยากฝึกทักษะการสื่อสาร เพื่อพูด inspire พนักงาน และเพื่อนร่วมงาน ให้ได้ภายใน 3 เดือน เป็นต้น ดังนั้นขอให้ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน และให้เวลาตนเองในการฝึกฝน
ขั้นที่สาม ขับเคลื่อนการเรียนรู้ โดยพาตัวเองไปอยู่ในระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ (Learning Ecosystem)
เมื่อมีเป้าหมายแล้ว รู้แล้วว่าทักษะอะไรที่เราต้องรู้ เรื่องนี้น่าสนใจ เรื่องนี้จะช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายได้อย่างไร มาถึงขั้นตอนนี้ซึ่งเป็นการต่อยอดในเรื่องการจัดตารางการเรียนรู้ของเราเอง สังเกตตัวเองว่าเราชอบเรียนแบบไหน เรียนแบบไหนได้ดี และเลือกรูปแบบการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเรา ไม่ว่าจะเป็นเรียนในห้องเรียนแบบคลาสรูม หรือเรียนรู้จาก network ของเพื่อน คนที่เรารู้จัก ขั้นตอนนี้จะขึ้นอยู่กับเรา
ว่าเราจะหยิบจับอะไรขึ้นมาตอบโจทย์คำถามและเป้าหมายอย่างไร ตัวอย่างเช่น เรารู้แล้วว่า เราต้องใช้ network มากขึ้นในปีหน้า ปีนี้เรามีคลาสพัฒนาการสื่อสารอยู่ เราจะใช้ประโยชน์จากคลาสนี้อย่างไร ช่วยสร้างเพื่อนใหม่ได้หรือเปล่า การเรียนรู้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นการอ่านหนังสือในห้องสมุดเสมอไป อาจจะเป็นการพาตัวเองไปอยู่ในกลุ่มคนที่มีความรู้ในเรื่องที่เรากำลังสนใจ ฟังวิทยุ ฟัง podcast หรือไปเข้าร่วมอีเวนท์ข้างนอกเพื่อให้เราได้ network มากขึ้น เห็นได้ชัดว่าทุกอย่างเป็นภาพของการเรียนรู้ที่จะตอบโจทย์คำถามของเราเบื้องต้น
แน่นอนว่า Self-directed learning เป็นทั้งทักษะและ Mindset ของคนที่อยากจะพัฒนาตนเองไปตลอดทุกช่วงชีวิต เพราะในโลกยุคนี้ เราไม่สามารถหยุดเรียนรู้ได้ หากต้องการก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลง ทักษะนี้จึงเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เรากล้าตั้งโจทย์การเรียนรู้ให้กับทุกเรื่องทีผ่านเข้ามา รู้ว่าเราเรียนรู้ทักษะนี้ไปเพื่ออะไร ควบคุมและขับเคลื่อนการเรียนรู้ของเราเองว่าเราจะประติดประต่อภาพเหล่านี้อย่างไร จะออกแบบการเรียนรู้ให้ออกมาแบบไหน ทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวของคุณเอง
เปิดโลกแห่งการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองได้แล้วกับ SEAC พร้อมสัมผัสประสบการณ์การเรียนรู้ตลอดชีวิตกับ YourNextU โมเดลการเรียนรู้แบบ Blended Learning ที่ให้คุณเรียนรู้ในรูปแบบไม่มีลิมิต ตั้งแต่วันนี้ ที่ https://www.yournextu.com
เรื่อง : อนุสรา ทองอุไร