ไลฟ์สไตล์ » วิถีปกติใหม่ (แท้)

วิถีปกติใหม่ (แท้)

17 กรกฎาคม 2020
508   0

วันผ่าน เดือนผ่าน และใกล้จะปีผ่าน แต่โควิดยังไม่ผ่านจากเราไปเสียที เพียงแต่เพราะเราจะเริ่มรู้จักมันมากขึ้นจนพอจะสามารถปรับตัวให้อยู่กับมันได้ดีขึ้น มันจึงไม่สามารถทำร้ายเรารุนแรงได้มากเท่ากับเมื่อเข้ามาเยี่ยมเยียนกันใหม่ ๆ การใช้ชีวิตแม้ยังไม่ปกตินักแต่ก็ไม่ลำบากเท่ากับ 5-6 เดือนก่อน ที่อยู่ดี ๆ วิถีการใช้ชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงไปเกือบสิ้นเชิง จากเคยต้องรีบตื่นเช้าแหวกการจราจรอันติดขัดไปทำงานกลับเป็นการ work from home ทำงานอยู่บ้าน จากต้องไปต่อคิวแย่งที่นั่งกันในห้างสรรพสินค้าดังทุกวันหยุด ห้างใหญ่ที่เป็นเหมือนพื้นที่แออัดกลับกลายเป็นห้างร้างหาใครไปเดินไม่ได้

อยู่บ้านทำงาน สั่งอาหารมาส่ง ช๊อปออนไลน์ หางานอดิเรกใหม่ ๆ ทำในยูทูป ไม่นับรวมการสวมผ้าปิดปาก การสแกนไทยชนะ และการตรวจคัดกรองก่อนเข้าสถานที่ต่าง ๆ กลายเป็นวิถีปกติใหม่ที่เรียก new normal

หลายคนยอมรับและเริ่มตั้งคำถามว่าแล้วเจ้าวิถีปกติใหม่นี้มันเป็นอย่างไร เราต้องปรับตัวอย่างไร

ก่อนตอบคำถามนี้อาจต้องลองหาคำจำกัดความของคำ 3 คำก่อน นั่นคือ คำว่า “วิถี” คำว่า “ปกติ” และคำว่า “ใหม่”

เริ่มจาก “วิถี” แปลว่าสาย แนว ถนน หรือทาง คำว่า “ปกติ” แปลว่าธรรมดาหรือเป็นไปอย่างเคย ส่วน “ใหม่” นั้นแปลว่าเป็นของที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน เป็นของที่เพิ่งจะมี รวมแล้วกลายเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตธรรมดาในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ที่หากขยายแนวทางนี้ให้เห็นภาพในปัจจุบันก็คือการใส่ผ้าปิดปาก ผ่านการคัดกรอง ยืน เดิน นั่งในที่สาธารณะโดยมีระยะห่างกัน จะไปนั่งกินอาหารก็ต้องนั่งห่างกัน จะไปเรียนหนังสือก็ต้องฟังครูห่าง ๆ จะไปทำธุระยืนต่อคิวก็ต้องมีระยะห่าง รวม ๆ กันแล้วที่เรียกการเว้นระยะห่างทางสังคมหรือ social distancing หรือจะใช้ physical distancing ก็ตามสะดวก

แต่หากสาวกันจริง ๆ แล้วจะพบว่า ระยะห่างทางสังคมนี้ ไม่ได้เป็นของที่เพิ่งมีมาจากโควิทแต่อย่างใด มีมานานมากแล้วอย่างน้อยก็ตั้งแต่ในสมัยพุทธกาล 2600 ปีที่แล้วก็มีการพูด การสอนเรื่องของการเว้นระยะห่างในสังคมเพื่อป้องกันโรคติดต่อมาก่อนแล้ว

ภาษาบาลีเขาเรียก “อสังสัคคะ” คือการไม่สังคม ไม่ใกล้ชิดกัน ซึ่งเมื่อขยายจะมีการสอนให้ไม่ใกล้ชิดกันใน 5 ลักษณะคือ

สวนอสังสัคคะ การไม่ใกล้ชิดกันทางการฟัง

ทัศนอสังสัคคะ การไม่ใกล้ชิดกันในการดู การชม

สมุลลปนอสังสัคคะ การไม่ใกล้ชิดกันในการสนทนา

สัมโภคอสังสัคคะ การไม่ใกล้ชิดกันในการบริโภคอาหาร

กายอสังสัคคะ การไม่ใกล้ชิดกันทางการสัมผัสตัว

เป็นอย่างไรครับ เหมือนแนวทางระยะห่างทางสังคมในปัจจุบันไหม นี่เป็นอีกภูมิปัญญาโบราณที่บรรพบุรุษเราใช้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัย แต่ด้วยวิถีใหม่ที่ก็คือวิถีปัจจุบันก่อนโควิทนี้ไม่ได้รอบคอบพอจนก่อให้เกิดความเสี่ยง และอันตรายขึ้นมากจนต้องคิดค้นแนวทางใหม่ที่สุดท้ายก็กลายเป็แนวทางเดิมนั่นเอง

แต่แม้ไม่ได้เป็นของใหม่จริง เป็นเพียงแค่แปลกไปจากที่คุ้นเดิมก็ไม่ว่ากันเพราะอย่างน้อยก็ทำให้สังคมได้หันมาสนใจนัยยะที่ซ่อนอยู่ที่สำคัญกว่านั้นมากกว่า นั่นคือวิถีแห่งความ “ปกติ”

ที่บอกว่านี่เป็นเรื่องที่น่าให้ความสนใจก็เพราะวิถีปกติที่หมายกันอยู่นี้เป็นเพียงวิถีปกติแบบผิว ๆ เป็นแค่ขั้นตอนการใช้ชีวิตเปลือก ๆ หยาบ ๆ ไม่ใช่วิถีปกติจริงที่ควรนำมาใช้เป็นวิถีจริง

แล้ววิถีปกติจริงนั้นเป็นอย่างไร?

จะตอบได้ก็ต้องลงไปให้ถึงรากที่แท้จริงของคำว่าปกติ ว่าปกตินั้นแท้จริงแล้วหมายถึงการไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน การเคารพในสิทธิ์ของกันและกัน ไม่ทำลาย ทำร้ายชีวิต ไม่ลักขโมยทรัพย์ หรือของรัก ของหวง ไม่ดูหมิ่นทำลายเกียรติยศ ความภูมิใจของผู้อื่น หรือจะเรียกอีกอย่างก็ได้ว่าก็คือการมีศีลนั่นเอง

ศีลนั่นล่ะครับคือความเป็นปกติที่แท้ที่ควรสนใจและนำมาใช้ไม่ว่าจะในยุคก่อนหรือหลังโควิท

ลองจินตนาการดูว่าหากทุกคนมีศีลและอสังสัคคะทั้ง 5 ตามที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ วันนี้เราคงไม่ต้องมาหวาดระแวงกังวลอะไรกับโรคร้ายใดอีก

นั่นล่ะครับคือวิถีปกติที่แท้ที่ไม่ต้องมีคำว่าใหม่มาขยายแต่อย่างใด เพราะเป็นวิถีปกติที่เป็นอกาลิโกหรืออยู่เหนือกาลเวลานั่นเอง

 

เรื่อง วีรณัฐ โรจนประภา