ไลฟ์สไตล์ » แบบไหนถึงเรียกว่า Agile? วิถีการทำงานในยุคแห่งความไม่แน่นอน

แบบไหนถึงเรียกว่า Agile? วิถีการทำงานในยุคแห่งความไม่แน่นอน

5 สิงหาคม 2020
590   0

จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนเริ่มเห็นภาพความไม่แน่นอนชัดขึ้น หลายองค์กรได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงหรือดิสรัปชั่นที่เกิดขึ้น และไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคลหรือตัวองค์กรเอง ล้วนต้องปรับตัวให้เร็ว ให้ไว เพื่อความอยู่รอด เพื่อที่จะอยู่รอดให้ได้ในโลกที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเช่นนี้

ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงคำว่า Agile หลายคนมักมองไปถึงภาพการทำงานระดับองค์กร คิดว่าเป็นเรื่องของการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับปรุงพัฒนา และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว การที่องค์กรจะเกิดกระบวนการทำงานที่เรียกว่า Agile ได้นั้น ต้องขึ้นอยู่กับตัวของพนักงานในองค์กรเป็นหลัก ที่แต่ละคนต้องมีวิธีคิด มีวิธีการทำงานแบบ Agile ไม่เช่นนั้น องค์กรจะไม่สามารถผันตัวมาเป็น Agile Organization ได้สำเร็จ

อริญญา เถลิงศรี Chief Capability Officer & Managing Director – SEAC ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน แล้ว Agile employees แบบที่องค์กรต้องการหน้าตาเป็นอย่างไร?

ในโลกการทำงาน คนส่วนใหญ่อาจรู้สึกว่าการเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องยาก และไม่พร้อมรับมือ หลายครั้งที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในชีวิต แต่ตัวเรากลับไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ และทำให้เกิดความเครียดตามมา

แต่ในทางกลับกัน ก็มีคนอีกกลุ่มที่พร้อมรับมือกับสถานการณ์ความไม่แน่นอน และปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างดีและรวดเร็ว คนเหล่านี้มีความยืดหยุ่น ปราดเปรียวมากพอ ที่จะไม่เสียพลังงานและกำลังใจไประหว่างทาง แต่ในทุกครั้งที่เจอปัญหาและความท้าทาย คนเหล่านี้กลับยิ่งแข็งแกร่งขึ้น เก่งและอึดขึ้นอีก นี่คือกลุ่มของ Agile employees ผู้ที่พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และเตรียมพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสได้ทุกเมื่อ

งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า คนทำงานที่มีความ Agile จะมีความกระหายในการเรียนรู้สิ่งใหม่อย่างต่อเนื่อง สามารถทำงานโปรเจคต่างๆ ลองค้นหา ลองลงมือทำวิธีการใหม่ๆ และปรับเปลี่ยนกระบวนการให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา กล้าเปิดรับโจทย์ที่ท้าทายและทำให้คนกลุ่มนี้ผลักตัวเองให้ก้าวไปข้างหน้าอยู่เสมอ เรียกได้ว่า สามารถทลายกำแพง และก้าวข้ามขีดจำกัดเดิม และเพิ่มโอกาสให้กับชีวิตได้มากกว่า

ยิ่งในยุคปัจจุบัน สถานการณ์เร่งรัดให้องค์กรต่างแสวงหาคนกลุ่มนี้เข้ามาร่วมคิด ร่วมทำงาน และผลักดันนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ออกมาตอบโจทย์ความต้องการในตลาด คนทำงานที่มีความ Agile ตั้งแต่กระบวนการคิดวิเคราะห์ การทำงาน การตัดสินใจไปจนถึงการแก้ไขปัญหานั้นถือว่าเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนองค์กรให้ฝ่ากระแสความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และพิชิตโจทย์ที่ท้าทายได้อย่างทันการในตลาดที่เต็มไปด้วยคู่แข่งที่มองเห็นและยังมองไม่เห็น

เมื่อทุกวันนี้เป็นยุคการทำงานที่ “อย่าทำงานหนัก แต่จงทำงานอย่างฉลาด” และงานวิจัยพบว่า พนักงานที่มีความ Agile จะรู้ดีว่าการทำงานให้สำเร็จอย่างฉลาดนั้นทำอย่างไรได้บ้าง ต่อไปนี้จะเป็นสรุป 7 คุณสมบัติและลักษณะของคนทำงานที่มี Agile Mindset

1.ไม่เกรงกลัวการเปลี่ยนแปลง

เมื่อหัวใจของความ Agile คือ ความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงและปรับตัวต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นได้ คนกลุ่มนี้จะอัพเดตความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทิศทางกระแสธุรกิจ ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี และความต้องการของตลาดที่ปรับเปลี่ยนไป ซึ่งคนทำงานที่มีคุณสมบัติเหล่านี้จะเป็นกำลังผลักดันองค์กรให้สามารถขับเคลื่อนไปในตลาดได้เร็ว สามารถเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ไว และในที่สุด สามารถคว้าโอกาสใหม่ๆ ได้ก่อนใคร

2.เป็นผู้ฟังที่ดี

คนทำงานที่มีความ Agile รู้จักการเป็นผู้ฟังที่ดี คอยรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นๆ เปิดมุมมอง และอัพเดตเทรนด์ใหม่ๆ เพื่อที่จะหาทางเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งต่างๆ ที่อาจเข้ามา หากคุณยังไม่เริ่มแม้แต่จะคอยรับฟังสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว หรือในสายงานที่คุณกำลังทำงานอยู่ ตัวคุณจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทันการกับการเปลี่ยนไปที่เกิดขึ้นได้เลย

3.ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี

กุญแจสู่ความ Agile คือ การแลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนร่วมงาน พาร์ทเนอร์ และคู่ค้า ทุกโปรเจคการทำงานไม่จำเป็นว่าต้องออกมาจากความคิดทั้งหมดของคุณเพียงคนเดียว สภาพแวดล้อมการทำงานอย่าง Agile จะลดโครงสร้างองค์กรแบบ hierarchy ไปได้ ซึ่งเป็นกำแพงที่ปิดกั้นให้คนในองค์กรได้ค้นหา ทดลอง และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนผลลัพธ์ที่ดีกว่า

4.ทำงานแบบเชิงรุก (Proactive)

หากองค์กรที่ให้คุณค่ากับพนักงานที่มีความ Agile ก็ย่อมสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่เน้นการคิดเร็ว ตัดสินใจเร็ว และมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่สนับสนุนการให้พนักงานในการลงมือทำอย่างรวดเร็ว

5.นักสื่อสารที่ดี

การมีความ Agile ในการทำงานจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบและเปิดรับกับปัจจัยที่เข้ามามีผลกระทบรอบด้านต่อแผนกลยุทธ์ที่อาจเปลี่ยนแปลง เพราะการจะทำงานให้เสร็จตามแผน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสื่อสารกลยุทธ์ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

6.ความยืดหยุ่น

คนที่มีความ Agile คือผู้ที่มีทักษะวิธีคิดแบบเติบโตและยืดหยุ่น สามารถหาทางออก และหาทางพิชิตโจทย์ความท้าทายที่เข้ามาได้เสมอ แทนที่จะรู้สึกหมดกำลังใจ ท้อแท้กับผลลัพทธ์ที่อาจไม่เป็นไปตามหวัง แต่ความ Agile จะช่วยให้สามารถเริ่มต้นใหม่ ลองใหม่ ปรับปรุงพัฒนา หาวิธีการใหม่ๆ เพื่อใช้ต่อกรกับความท้าทายนั้นได้

7.เรียนรู้ตลอดเวลา อย่าง Lifelong learner

Lifelong learning คือกุญแจดอกสำคัญที่จะช่วยให้เราเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพิ่มพูนความรู้ความสามารถให้กับตนเองอยู่เสมอ และทรัพย์สมบัติที่มีค่ามากที่สุดของคนที่มีความ Agile ก็คือความสามารถในการเรียนรู้ เติบโตขึ้น ผ่านการอัพสกิลและรีสกิล เพื่อเตรียมตัวเองให้พร้อมรับมือกับความท้าทายต่างๆ ที่จะเข้ามา

สุดท้าย หากอยากปรับเปลี่ยนตนเองให้มีความ Agile สิ่งที่เริ่มต้นได้ในตอนนี้คือ การพัฒนาตนเองให้กลายเป็นคนที่มี Agile Mindset จากนั้น เริ่มตั้งเป้าหมายโดยมองให้ภาพใหม่ของเราว่าจะเป็นแบบไหน สร้าง Commitment วางแผนขั้นตอนว่าเราจะทำอย่างไร จัดตารางการเรียนรู้ในแต่ละวันว่าเราจะใช้ระยะเวลาเท่าไหร่  และที่สำคัญที่สุด คือการลงมือเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาอย่างต่อเนื่องเรื่อยๆ เพราะสิ่งที่แตกต่างระหว่างเราในตอนนี้กับสิ่งที่เราต้องการจะไป คือ “สิ่งที่เราต้องทำ” และ Agile Mindset คือ วิธีคิดที่การเอาชนะอุปสรรคที่เกิดขึ้นและเป็นประตูที่จะเปิดไปสู่โอกาสใหม่ๆ ทั้งในชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงาน

 เรื่อง : อนุสรา ทองอุไร / ภาพ : pixabay