ไลฟ์สไตล์ » นาฬิกาชีวิต

นาฬิกาชีวิต

11 สิงหาคม 2020
639   0

นาฬิกาคือเครื่องประดิษฐ์ที่มนุษย์ใช้บอกเวลาสมมติให้ตรงกัน เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตกันได้อย่างเป็นระเบียบ

อดีตมนุษย์ใช้การประมาณการนัดหมายกันด้วยเครื่องมือทางธรรมขาติคือพระอาทิตย์ นัดกันแบบหยาบ ๆ คร่าว ๆ เที่ยงตรงก็หมายถึงยามพระอาทิตย์ตรงศรีษะ ยามโพล้เพล้ พลบค่ำก็ประมาณพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าแล้วสักพัก ยามสายก็ช่วงระหว่างเช้ากับเที่ยง ฯลฯ

มนุษย์จึงรอคอยกันเป็นเพราะเข้าใจถึงความไม่แน่นอนในเรื่องเวลานี้ แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวไกลทำให้เครื่องบอกเวลาของมนุษย์ตรงกันแม้แต่เสี้ยววินาที แต่ในความแม่นยำนี้กลับมีผลข้างเคียงคือมนุษย์เริ่มรอไม่เป็น ส่งไลน์ไปหากอีกฝ่ายอ่านช้าแม้เพียงเสี้ยวเศษก็สามารถลุกลามกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ ก็น่าลองพิจารณาดูว่านาฬิกาตามธรรมชาติกับนาฬิกาดิจิตอลแบบไหนที่เหมาะกับการใช้ชีวิตของมนุษย์มากกว่า

แต่ที่อิงธรรมชาติแล้วน่าจะดีกว่าแน่ ๆ คือ “นาฬิกาชีวิต”

นาฬิกาชีวิตเป็นศาสตร์ทางการแพทย์ของจีนที่เชื่อว่า ธรรมชาติกับมนุษย์สิ่งเดียวกัน มีการทำงานเป็นวัฏจักรที่มีรอบเวลาที่แน่นอน ในแต่ละวัน โดยชี่ ลมปราณและเลือดจะเคลื่อนไปส่งผลต่ออวัยวะในร่างกายตามรอบเวลานั้น ๆ ดังนั้น หากเราทราบเวลาที่ส่งผลต่ออวัยวะนั้น เราก็จะสามารถดูแลสุขภาพได้ดีขึ้น โดยตามตำรานั้นแบ่งเวลาแอกเป็นช่วงละ 2 ชั่วโมง ที่แต่ละช่วงจะมีอวัยวะที่ควรใส่ใจเป็นพิเศษ ดังนี้

23:00 น. – 01:00 น. เป็นเวลาที่ไขกระดูกสร้างเลือดเพื่อซ่อมแซมร่างกาย โดยมีถุงน้ำดีทำงานหนัก จึงเป็นเวลาที่ควรนอนหลับ

01:00 น. – 03:00 น. เป็นเวลาที่ตับทำหน้าที่ขจัดสารพิษในร่างกายเป็นเวลาที่ควรนอนให้หลับสนิทเพื่อเลือดจะไหลเวียนได้ดีเพิ่มพลังชี่ของตับได้

03:00 น. – 05:00 น. เป็นเวลาที่ปอดทำหน้าที่ให้ออกซิเจนกับเซลล์ต่าง ๆ และด้วยเป็นช่วงที่อุณหภูมิและความดันของร่างกายจะต่ำลงจึงควรทำร่างกายให้อบอุ่น

05:00 น. – 07:00 น. เป็นเวลาที่ลำไส้ใหญ่ทำหน้าที่ จึงควรขับถ่ายของเสีย เมื่อลำไส้ใหญ่เคลื่อนตัวดีย่อมส่งผลให้การขับถ่ายดี ควรดื่มน้ำอุ่นเพื่อช่วยกระตุ้นด้วย

07:00 น. – 09:00 น. เป็นเวลาของกระเพาะทำหน้าที่จึงควรรับประทานอาหารเช้าที่จะทำให้ระบบย่อยและการดูดซึมทำงานได้ดี

09:00 น. – 11:00 น. เป็นเวลาของม้ามทำหน้าที่กระจายสารอาหารและน้ำไปยังส่วนต่าง ๆ ดังนั้น จึงควรเคลื่อนไหวร่างกายและดื่มน้ำ

11:00 น. – 13:00 น. เป็นเวลาของหัวใจควรนอนพักเพื่อบำรุงหัวใจประมาณ 15 – 30 นาที

13:00 น. – 15:00 น. เป็นเวลาของลำไส้เล็กดูดซึมสารอาหารและน้ำ จึงไม่ควรรับประทานอาหารกลางวันเกิน 13.00 น.

15:00 น. – 17:00 น. เป็นเวลาของกระเพาะปัสสาวะ ดังนั้น จึงควรดื่มน้ำ และออกกำลังกายแบบเบา ๆ ด้วยการเดินช้า ๆ

17:00 น. – 19:00 น. เป็นเวลาของไตทำหน้าที่ จึงควรจะหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็ม

19:00 น. – 21:00 น. เป็นเวลาของเยื่อหุ้มหัวใจ และเพื่อป้องกันหัวใจให้ทำงานได้ดี จึงไม่ควรรับประทานอาหารเย็นจนอิ่มเกิน และรักษาอารมณ์ให้ดี

21:00 น. – 23:00 น. เป็นเวลาของระบบทั้งส่วนบน ส่วนกลาง และส่วนล่างจึงควรเตรียมตัวสำหรับการนอนหลับ ให้ร่างกายที่ทำงานหนักมาทั้งวันได้รับการพักผ่อน

เป็นอย่างไรบ้างครับ อ่านดูแล้วจะเห็นว่าหลายข้อก็เป็นคำแนะนำที่เราคุ้น ๆ กันดีอยู่ หรือบางข้อก็เป็นเรื่องที่เราประสบตรงมาจนพอจับช่วงเวลาและดูแลตัวเองได้บ้างอยู่แล้ว อย่างใครที่เคยรู้สึกตัวช่วงเช้ามืดตี 3 ตี 4 ก็จะสังเกตได้ว่าร่างกายมักหนาวสั่นหากไม่ทำความอบอุ่นให้ดีก็เสี่ยงที่จะไม่สบายได้ หรือพอตื่นรู้สึกตัวเราก็มักจะดื่มน้ำอุณหภูมิห้องและขับถ่ายเป็นลำดับแรก หรือแม้แต่ช่วงเที่ยงที่ตามตำราว่าเป็นเวลาที่หัวใจควรได้พักและนอนหลับช่วงสั้น ๆ ก็ตรงกับบางวัฒนธรรมที่มีการงีบหลับหลังอาหารเที่ยงเพื่อเติมพลังให้การทำงานต่อรอบบ่าย

การได้เข้าใจในข้อแนะนำให้ปฏิบัติในการดูแลร่างกาย รวมถึงเข้าใจวิถีที่ทำกันมาจนกลายเป็นวัฒนธรรมแบบนี้ก็ช่วยให้เรายอมที่จะปฏิบัติได้อย่างมั่นใจ มุ่งมั่นขึ้น เหมือนมีตำรามารองรับ โดยเฉพาะกับช่วงเวลาที่เรามักปล่อยตัว ใจ กายให้ประมาทตามอารมณ์เช่น การนอนดึก ที่ตามนาฬิกาชีวิตแนะว่าไม่ควรเกิน 5 ทุ่มเพราะไขกระดู ตับ ปอดอันเป็นอวัยวะหลักจะได้พักผ่อนหรือทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ หรืออย่างเวลาอาหารมื้อเช้า กลางวัน เย็น ที่ก็ไม่ควรกินให้เกินเวลา และกินอย่างถนอมอวัยวะนั้น ๆ ไม่มากเกิน ไม่เค็มเกินไป ฯลฯ

ก็ลองนำไปทำดูนะครับ เป็นภูมิปัญญาโบราณที่ควรจะลองปฏิบัติตามดู ทำแล้วจะเบาตัว เบาใจ สบายอารมณ์ เลยถือโอกาสนำมาฝากคุณผู้อ่านทุกท่านด้วยความปรารถนาดีครับ

 

เรื่อง : วีรณัฐ โรจนประภา