ไลฟ์สไตล์ » เห็นต่างอย่างเข้าใจ

เห็นต่างอย่างเข้าใจ

16 สิงหาคม 2020
651   0

ข่าวคราวการชุมนุมทางการเมืองของเด็กมหาวิทยาลัยช่วงนี้หนักหน่วงมากขึ้นทุกวัน กลายเป็นประเด็นความเห็นต่างของคนรุ่นลูก กับรุ่นพ่อแม่ ถ้าไม่เข้าใจไม่เปิดใจจะกลายเป็นปัญหารอยร้าวสร้างความแตกแยกในครอบครัวได้ง่ายๆถือเป็นเรื่องเปราะบางมาก

เมื่อเราและลูกเห็นต่างทางการเมือง อาจจะกลายเป็นเรื่องปวดใจ หากไม่ทำความเข้าใจกันดีๆ จะพาลห้ามไม่ฟังไม่ให้ลูกไปยุ่งเกี่ยวการเมือง เดี๋ยวจะบานปลายกลายเป็นตัดแม่ตัดละลูกกันได้ วันนี้มีข้อแนะนำดีๆ จากคลินิกวัยรุ่นของหมอโอ๋ เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน คุณหมอมีคำแนะนำสำหรับพ่อแม่ ดังนี้นะคะ

  1. ให้ดีใจที่ลูกมองว่า “การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน” ประเทศจะไม่พัฒนาด้วยวัยรุ่นที่มองแต่ปัญหาของตัวเอง
  2. จงเชื่อมั่นว่าวัยรุ่นที่ “ตั้งคำถาม” นำมาซึ่งความงอกงามเสมอ
  3. หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดตัดสิน ดูถูก บั่นทอนคุณค่า “โง่” “อุตส่าห์เรียนสูง” “ให้เค้าจูงจมูก” เพราะนั่นไม่ได้ทำให้เกิดการสื่อสารที่สร้างสันติ
  4. “รับฟัง” แบบเปิดใจไม่รีบตัดสิน ลูกรู้สึกอะไร อึดอัดอะไร มีความต้องการอะไร ให้คุณค่ากับอะไร ทำไมถึงคิดหรือเชื่อสิ่งนั้น ฟัง… ด้วยความต้องการที่จะเข้าใจ ไม่ใช่ฟังเพื่อสั่งสอน
  5. เคารพการให้ “คุณค่า” ในสิ่งที่แตกต่าง (สมัยพ่อแม่อาจให้คุณค่าเรื่องการไม่ตั้งคำถามกับคนที่เคารพหรือมีอำนาจ เด็กสมัยนี้ให้คุณค่ากับสิทธิความเป็นมนุษย์ ความยุติธรรมและความเท่าเทียม)

  1. ตั้งคำถามกับสิ่งที่ลูกให้คุณค่า (เราอาจพบว่านั่นก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะมันคือสิทธิขั้นพื้นฐาน) บอกลูกได้ ถึงสิ่งที่เราให้คุณค่า และที่มาของความเชื่อนั้น

7.อย่ารีบปักใจว่าลูกโง่ เด็กสมัยนี้โตมากับความรู้มหาศาล ให้สงสัยความไม่รู้ของตัวเองอยู่ด้วยเสมอ

  1. สอนลูกตั้งคำถาม กับสิ่งที่ลูกเชื่อหรือถูกบอกมา อันไหนจริง อันไหนใช่ เพราะอะไรถึงเชื่อสิ่งนั้น ช่วยลูกฝึกการวิเคราะห์แยกแยะ
  2. การที่วัยรุ่นลงมือลงแรงเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงกับสิ่งที่เชื่อมั่น นั่นคือพลังงานของวัยหนุ่มสาว ที่เราควรรักษาไว้
  3. สอนลูกเรื่อง การเรียกร้องสิทธิ ไม่ควรกระทำโดยการละเมิดสิทธิของผู้อื่น
  4. สอนลูก(และตัวเอง) ว่าการใช้hate speech สร้างความเกลียดชัง หรือการสร้างภาพเลวร้ายให้ตัวบุคคล อาจไม่นำไปสู่การสร้างความเข้าใจในสิ่งที่ตนต้องการ
  5. อธิบายลูกว่าความรักความศรัทธาของคนหลายคน อาจไม่ต้องมีเหตุผล แต่เป็นเรื่องที่เราควรให้คุณค่า อย่าทำลายหรือดูถูกความศรัทธาของผู้อื่น

เปิดใจเชื่อว่าความขัดแย้ง การตั้งคำถาม นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงเสมอ การรับฟัง สร้างพื้นที่ปลอดภัย โอบกอดความเห็นต่างด้วยความเข้าใจ การหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง น่าจะเป็น ทางออกของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

สุดท้าย ถ้าเข้าใจและเห็นด้วยในสิ่งที่ลูกเชื่อมั่น“จงเป็นพลังให้พวกเขา”ถ้าลูกยืนยันจะไปม๊อบก็เตรียมแมสก์ แอลกอฮอล์ ร่มกันฝน และเงินประกันตัว  แต่ถ้าไม่เห็นด้วยในสิ่งที่ลูกเชื่อมั่น และห้ามไม่ได้ก็ช่วยเตรียมแมสก์ แอลกอฮอล์ ร่มกันฝน และบอกลูกด้วยว่า พ่อแม่จะมีขอบเขตการช่วยเหลืออยู่แค่ไหน ลูกต้องตัดสินใจ เรียนรู้ และรับผิดชอบกับทางเลือกของตัวเองและไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ อยากให้กอดลูกและบอกตัวเองว่า“โลกข้างหน้า คือโลกที่เป็นของลูก”

 

 เรื่อง อนุสรา ทองอุไร