เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่เรานั้นต่างไม่สามารถอยู่บนโลกนี้ได้เพียงลำพัง ในแต่ละวัน เราใช้ชีวิต ติดต่อพูดคุย และทำงานร่วมกับผู้คนมากมายอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่เคยเป็นไหม? ที่การทำงานติดขัด อึดอัดใจ เกิดความขัดแย้ง รู้สึกไม่ถูกกชะตากับเพื่อนร่วมงาน หลายครั้งที่อาจได้ผลลัพธ์จากงาน แต่กลับไม่สบายใจ สุดท้ายกลายเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกและบ่อนทำลายความสัมพันธ์ในระยะยาว หลายคนทนกับปัญหาเหล่านี้ไม่ไหวก็เลือกที่จะลาออกไปเพื่อให้ทุกอย่างจบสิ้น แต่พอได้ย้ายไปที่ใหม่ ปัญหาเดิมๆ ก็กลับมาให้ปวดหัว ปวดใจอีกเช่นเคย
อริญญา เถลิงศรี Chief Capability Officer & Managing Director – SEAC ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียนกล่าวว่า บางครั้งคนที่จะเริ่มปรับเปลี่ยนอาจเป็นตัวเราก่อน เริ่มมองและทำความเข้าใจที่มุมมองความคิดของตัวเราก่อน บางทีแค่ปรับ Mindset หรือทัศนคติต่อสิ่งต่างๆ ก็สามารถเปลี่ยนผลลัพธ์และทำให้ชีวิตของเราเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เพราะมุมมองความคิดคือฟันเฟือนขับเคลื่อนพฤติกรรมที่เราแสดงออกไป ซึ่งมีส่งผลต่อผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
หลายคนคงเคยได้ยินเรื่อง Outward Mindset ซึ่งคือวิธีคิดที่ช่วยให้เราเปิดกว้างในเรื่องการเรียนรู้จากคนหลากหลายแบบบนโลกใบนี้ ที่อาจไม่ได้ถูกจริต ต้องชะตากันเสมอไป ไม่ได้เห็นด้วยกับเรา 100% ในทุกเรื่องเพราะแต่ละคนมีโจทย์ชีวิตที่แตกต่างกัน แต่การมีวิธีคิดเช่นนี้จะทำให้เราเห็นความสำคัญของทุกคน เห็นผลประโยชน์สูงสุดร่วมกัน เพิ่มโอกาสในการเรียนรู้จากคนมากหน้าหลายตา ทำให้เราเรียนรู้ได้ในทุกบริบท
ตัวอย่างในกรณีเมื่อ ‘ฉันอยากให้โปรเจคฉันเสร็จ’ หากมีวิธีคิดแบบ Outward เราจะมองเห็นลูกน้องเป็นเพื่อนร่วมงาน ช่วยกันทำงาน แนะนำ ปรับปรุง มองเห็นทีมอื่นเป็นเพื่อน ถ้าส่วนของทีมอื่นติดปัญหา เราจะมองว่ามีอะไรที่เราพอช่วยได้ไหม และมองเห็นข้อดีจากคนที่เห็นต่างจากเรา และมองว่าบางทีมุมของเค้าอาจจะดีในด้านอื่นๆ ก็เป็นได้
ในทางตรงกันข้าม Inward Mindset คือวิธีคิดที่มุ่งเน้นผลลัพธ์และความต้องการของตัวเอง เห็นคนอื่นเป็นเพียงวัตถุ อุปสรรค หรืออากาศธาตุ ตอนที่เราคิดแบบ Inward เราจะมองแค่จาก ‘มุมมองของตัวเอง’ และจะตัดสินว่าเราเป็นฝ่ายถูกเสมอ คนอื่นๆ ผิด ยกตัวอย่างในกรณีเดียวกับข้างต้น เมื่อ ‘ฉันอยากให้งานฉันเสร็จ ‘ ดังนั้น ความคิด Inward ที่วิ่งเข้ามาในหัวคือ ฉันมองเห็นลูกน้องเป็นสิ่งที่ใช้งาน ฉันจึงสั่งงานไม่หยุด มองเห็นทีมอื่นเป็นอุปสรรค และมักคิดว่างานทีมฉันยังไม่เสร็จ โยนมาอีกล่ะ ตลอดจนมองเห็นคนที่ไม่เห็นกับเราด้วยเป็นอากาศ คิดอย่างไรก็เรื่องของแก ฉันไม่สน ไม่ใส่ใจในความคิดของคนเหล่านั้น
แท้จริงแล้ว ต้นตอของความขัดแย้งในความสัมพันธ์ของมนุษย์คือ Self-deception การหลอกตัวเองหรือการมีความคิดอย่าง Inward กล่าวคือ มองแต่ตัวเอง ต่างฝ่ายต่างคิดต่างมโนในมุมที่แต่ละคนคิด จึงไม่ตรงกัน อย่างเช่น ฉันมองว่าฉันโอเค ทำไมเธอถึงไม่โอเคล่ะ อีกมุมหนึ่งก็จะโทษคนอื่นว่า แล้วทำไมเธอถึงไม่ยอมสื่อสารใช้ชัดเจนแต่แรกล่ะ
เพราะในบางครั้งที่เราไม่รู้ว่าคนอื่นคิดอะไร ดังนั้น เราอาจจะยังคิดเข้าข้างตัวเองอยู่ และเผลอตกลงไปในกล่องความคิดแบบ Inward การที่เราอยู่ในกล่อง นั่นหมายถึงว่าเรากำลังอยู่ในกล่องความคิดของเรา เราโฟกัสกับงานของเราอยู่เท่านั้น และในขณะนั้นหากมีคนเข้ามาปฏิสัมพันธ์กับเรา หรืออาจจะมีโทรศัพท์เข้ามา เราจะมองว่าขอโฟกัสที่งานเราก่อน เราก็เลยจะเมินเฉยคนที่เข้ามาขอความช่วยเหลือขณะนั้นหรือตัดสายนั้นไป จะเห็นได้ชัดว่า ณ เวลานั้น เราไม่ได้มองเขาคนนั้นเป็นคน เรากำลังใส่เลนส์ที่มองคนเป็นวัตถุ โดยที่ไม่แม้แต่จะเข้าใจว่าอีกฝ่ายต้องการความช่วยเหลืออะไรไหม
ทั้งนี้ คนๆ หนึ่งมีความคิดทั้งสองแบบนี้ได้ตลอด ไม่จำเป็นว่าจะเป็นคน Outward หรือ Inward อย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว ขึ้นอยู่กับสถานการณ์หรือคนที่ตอบสนองด้วย หลายคนมักเปิดกว้างกับคนที่ชอบ แต่จะใจแคบกับคนที่เรามีอคติ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่หากเราเปิดใจกว้างได้กับทุกคน ทุกสถานการณ์ เราจะมองเห็นสิ่งดีๆ และโอกาสรอบตัวมากขึ้น
การเลือกใส่เลนส์ในการมองโลกที่ใช่หรือวิธีคิด (Mindset) ที่เหมาะสม จะช่วยให้เราก้าวสู่เป้าหมายของเราได้ดีขึ้น ลองมาเรียนรู้จาก 4 เทคนิคเปลี่ยนมุมคิดมาเป็นแบบ Outward เพื่อการใช้ชีวิตและการทำงานร่วมกับผู้อื่นให้เป็นสุขได้ในทุกสถานการณ์ ได้แก่
1.การถ่อมตนนั้นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด การที่เราถ่อมตนจะช่วยให้เราเข้าใจอีกฝ่ายมากขึ้นว่าอีกฝ่ายอยู่ในสถานการณ์ไหน มีเป้าประสงค์อะไร ต้องการความช่วยเหลืออะไรที่เราสามารถช่วยเหลือได้ หรือหากเราไม่สามารถช่วยได้ในขณะนั้น การใช้คำพูดที่สุภาพนุ่มนวลตอบกลับ อาจจะพูดยื่นข้อเสนอให้อีกฝ่ายรอเพื่อให้เราเคลียร์งานที่เร่งตรงหน้าให้จบเสียก่อน ก็ถือเป็นหนึ่งในทางออกที่ได้ผลและไม่ทำให้เกิดความขุ่นเคืองใจต่อกัน
2.มุ่งเน้นไปที่พฤติกรรมที่เกิดผลประโยชน์ต่อส่วนรวม จากตัวอย่างกรณีศึกษาของ Alan Roger Mulally อดีตประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ บริษัท ฟอร์ดมอเตอร์ ที่สามารถพลิกธุรกิจ Ford ให้กลับมาเฟื่องฟูได้ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยช่วงปลายทศวรรษ 2000 คุณ Alan กล่าวถามพนักงานทั้งหมดในบริษัทว่า “เมื่อปัญหาเกิดขึ้นเช่นนี้ขึ้นกับบริษัท ใครจะสามารถเข้ามาช่วยบริษัทคลี่คลายปัญหาเหล่านั้นได้บ้าง?” ซึ่งทำให้ทุกคนในองค์กรเข้าใจว่าตนเองมีส่วนช่วยบริษัทให้ผ่านวิกฤตไปได้ แต่ละคนมุ่งเป้าไปที่ประโยชน์ขององค์กรโดยรวม เพื่อให้องค์กรแก้ไขปัญหาและอยู่รอดต่อไปได้
3.ขจัดความแตกต่างระหว่างเรากับคนรอบข้าง Outward Mindset คือการลดทอนความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นระหว่างผู้บริหาร ผู้นำองค์กรกับพนักงาน หรือแม้ต่พนักงานด้วยกัน ทุกคนต้องทลายกำแพงและจับมือก้าวเดินไปพร้อมกันด้วยจิตใจที่ว่า “พวกเราจะสู้ไปด้วยกัน” ด้วยความคิดเช่นนี้ ตัวเรา ทีม รวมไปถึงองค์กรก็จะเพิ่มคุณภาพกรทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุขมากขึ้น
4.อย่ารอให้คนอื่นเปลี่ยนก่อน เราอาจจะคาดหวังว่า คนอื่นก็ต้องเปลี่ยนสิ เค้าไม่เห็นเปลี่ยนเลย เราเปลี่ยนอยู่คนเดียว อันนี้เหมือนเป็นกับดักเลยที่คิดว่าเค้าต้องเปลี่ยน จริง ๆ คนอื่นเขาไม่เปลี่ยน ไม่ต้องไปคาดหวัง ต้องเริ่มจากตัวเองก่อน จุดที่ยากที่สุดคือ ตัวคุณเองรู้ตัวไหมว่ากำลังตกไปอยู่ในโซน Inward Mindset คุณกำลังมองแต่ในมุมของตัวเองอยู่ พวกเราแต่ละคนก็มีสัญญาณเตือนส่วนตัว ลองคิดดูว่าเวลาคุณเริ่มไม่พอใจ เริ่มเจอปัญหา เริ่มทะเลาะกับคนอื่น หรือเริ่มมีความคิดลบๆ คุณมีอาการแสดงออกยังไง เพียงแค่เรารู้ตัว และอย่างน้อยปรับทีละนิด
พยายามที่จะเข้าใจผู้อื่นมากขึ้นและปรับมุมมองว่า เรากับคนอื่นสำคัญเท่าๆ กันทั้งความคิดและจิตใจ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ Mindset ของเราเองที่จะเปลี่ยนไปจาก Inward เป็น Outward นี่คือจุดเริ่มต้นของสิ่งต่าง ๆ รอบตัว สุดท้ายที่ต้องรู้คือ การปรับให้เราเป็นคน Outward Mindset ไม่ใช่สิ่งที่ดีดนิ้วปุ๊ปปั๊บจะเปลี่ยนได้ทันทีเหมือนหุ่นยนต์ ใช้เวลาฝึกไปวันละนิด ค่อยทำความเข้าใจคนรอบข้าง ไม่ว่าจะจุดมุ่งหมายของเขา เขาต้องการอะไร ปัญหาและอุปสรรคของเขาคืออะไร สิ่งนี้ใช้ได้ ไม่ใช่แค่ในองค์กร แต่ใช้ได้กับชีวิตจริง ในความสัมพันธ์กับคนรอบข้างด้วย Outward Mindset ไม่ได้ทำให้พนักงานทำงานดีขึ้นอย่างเดียว แต่ช่วยทำให้พนักงานมีความสุขมากขึ้นด้วยเช่นกัน ดังที่หนังสือ The Outward Mindset กล่าวไว้ว่า “Outward ไม่ใช่การทำทุกสิ่งทุกอย่างที่คนอื่นอยากให้เราทำ แต่คือการทำในสิ่งที่เราสามารถทำเพื่อผู้อื่นได้”
เรื่อง: อนุสรา ทองอุไร–anusra137@gmail.com