ไลฟ์สไตล์ » พัฒนาทางเลือกด้วยศาสตร์พระราชา สร้างสามัคคีแก้ไขปัญหาชุมชน

พัฒนาทางเลือกด้วยศาสตร์พระราชา สร้างสามัคคีแก้ไขปัญหาชุมชน

25 สิงหาคม 2020
786   0

เพราะน้ำคือชีวิต โดยเฉพาะเกษตรกรชาวไร่ชาวดอย ถ้าเกษตรไม่มีน้ำใช้ ก็ไร้ซึ่งอาชีพไร้ซึ่งอนาคต ความลำบากของคนบ้านไร่ชาวดอยไม่พ้นสายพระเนตรพระกรรณของในหลวง ร.9 ที่มุ่งมั่นจะบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล

เมื่อวันที่ 19-20 สค. ที่ผ่านมา สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ ได้จัดทริปพาสื่อมวลชนไปดูการดำเนินโครงการพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามพระราชดำริ(พชร.)เพื่อสร้างต้นแบบในพื้นที่ของจังหวัด  โดยสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ รับผิดชอบด้านการสร้างคนและระบบการพัฒนา

บ้านแม่กอน ชุมชนต้นน้ำ ความสามัคคีบริหารจัดการน้ำ

ทริปนี้เริ่มที่บ้านแม่กอน ตำบลทุ่งข้าวพวง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่  ในโครงการซ่อมแซมปรับปรุง เสริมศักยภาพระบบส่งน้ำด้วยท่อเพื่อการอุปโภคบริโภคในครัวเรือน มีผู้รับประโยชน์รวม 234 ครัวเรือนประชากรทั้งสิ้น 1279 คน

บ้านแม่กอน เป็นการดำเนินโครงการพัฒนาเร่งด่วนของโครงการพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามพระราชดำริ(พชร.) เพื่อสร้างต้นแบบในพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่

อินทร บุญยศ ผู้ใหญ่บ้านแม่กอน บอกว่ามีชาวบ้าน 7 ชนเผ่าอาศัยอยู่ ได้แก่ ลาหู่ดำ ลาหู่เหลือง ลาหู่แดง ไทใหญ่ กะเหรี่ยง ลีซู และคนเมือง ที่แยกอาศัยอยู่ตามหย่อมบ้านต่างๆ 7 หย่อม คือ บ้านจะลอ บ้านใหม่พัฒนา  บ้านสันต้นเปา บ้านดอยนาหลวง บ้านกะเหรี่ยง บ้านลีซู บ้านแม่ก๋อน  มีประชากร 1521  มี 321 หลังคาเรือน

แม้จะเป็นหมู่บ้านแรกที่รับน้ำจากลุ่มน้ำแม่กอนหลวง แม่กอนกลาง แม่กอนน้อย แต่ก็ไม่เพียงพอประสบปัญหาความขาดแคลนน้ำที่ใช้กินดื่มและเพื่อทำการเกษตร จากการสำรวจพบว่าแต่ละหย่อมบ้านใช้ประปาภูเขา เกิดความชำรุดเสียหาย อุดตันระบบส่งน้ำมีขนาดเล็ก ไม่มีฝายกั้นน้ำเข้าท่อ ในช่วงหน้าแล้งน้ำลดลงเกินครึ่ง ส่วนหน้าฝนน้ำก็เป็นสีแดงต้องนำไปกรองก่อนนำไปใช้ การขาดแคลนน้ำใช้จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขเป็นอันดับแรก เพราะน้ำคือชีวิตจำเป็นอย่างยิ่ง

พัฒนาให้ครบวงจร

จึงจัดทำโครงการ QUICK WIN ด้วยการทำระบบน้ำอุปโภค บริโภคและการเกษตรให้สำเร็จเห็นผลเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นศรัทธา และการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน ก่อนที่จะเกิดการพัฒนาระยะต่อไป โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 18  มี.ค 63 เป็นต้นมา มีการดำเนินการเป็น 3 ระยะคือ

1.งานซ่อมแซม ปรับปรุงระบบส่งน้ำ 5 หย่อมบ้าน ได้แก่ ลีซู สันต้นเปา ดอยนาหลวง ดอยจะลอ และคนเมือง มีผู้รับประโยชน์  219 ครัวเรือน ได้ระบบน้ำดีขึ้นไม่รั่วซึม

  1. งานสร้างฝายน้ำอุปโภคบริโภคและฝายเกษตร3 ลำน้ำ ได้แก่ ลำน้ำกอนหลวง กอนกลาง และกอนน้อย เป็นฝายอุปโภคบริโภค 3 ฝาย ฝายเกษตร 3 ฝายเนื้อที่ 139 ไร่เศษ และต่อระบบส่งน้ำ 5 จุด ทำให้ชาวบ้าน 7 หย่อมบ้าน  325 ครัวเรือนมีน้ำใช้เพียงพอตลอดปี

3.เป็นการต่อระบบท่อ PE ที่ลำน้ำกอนหลวง ระยะทางรวม เกือบ 7 กิโลเมตร เริ่มดำเนินการหลังจากชาวบ้านว่างเว้นจากฤดูเก็บเกี่ยวการทำนา เริ่มมาตั้งแต่ 20 กค. ที่ผ่านมา

โดยชาวบ้านช่วยลงแรงและบริหารจัดการดูแลกันเองโดยมีเงินค่าบำรุงเดือนละ 20 บาทเก็บไว้เป็นกองทุนในการซ่อมแซมอุปกรณ์ที่ชำรุด

วิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เมื่อได้นำไปใช้ในแปลงเกษตรอย่างเพียงพอ ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น เกษตรกรมีรายได้เพิ่มจากการปลูกข้าวและพืชหลังนา

“เมื่อชาวบ้านมีน้ำดีผลผลิตดีก็ทำมาหากินได้ดี คุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่เครียดไม่กังวลเรื่องปากท้อง ก็จะไม่ปลูกฝิ่น ไม่ยุ่งกับปัญหายาเสพติด ไม่รุกที่ป่า  ก็ช่วยลดปัญหาอื่นๆลงไปด้วย ได้ผลดีไปอีกหลายๆเรื่องตามมา ทางจังหวัดเองก็ช่วยดูแลเรื่องอื่นๆเสริมไปด้วยเช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม  เรื่องธรรมชาติ เรื่องท่องเที่ยว  ด้านการตลาด อุตสาหกรรมอื่นๆควบคู่ไป เพราะภาคบริการต้องคู่ไปกับภาคการเกษตร พัฒนาให้ครบวงจร”

ความร่วมมือคือพลัง

เพราะความจำเป็นเรื่องน้ำ ควรแก้ปัญหาให้ได้ในระยะยาวอย่างยั่งยืน จึงต้องการความร่วมมือ ใช้กำลังคนในการมาช่วยแก้ปัญหา คนที่มีความรู้ ความเข้าใจ ทั้งคนในพื้นที่และนอกพื้นที่ เพื่อการพัฒนาที่เข็มแข็งจากหลายฝ่าย โดยมีแกนหลักอยู่ที่การปรับเอาศาสตร์พระราชาและแนวพระราช ดำริด้านต่างๆไปใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม

 

นพวัชร สิงห์ศักดา ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่าสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ จึงได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการสร้างคนและสร้างความเข้าใจแก่หน่วยงานราชการ ผู้นำท้องถิ่น ในพื้นที่ 4 จังหวัด นำร่องโดยมีจังหวัดเชียงใหม่เป็นแกนนำ จัดให้มีการเรียนรู้ประสบการณ์ในพื้นที่จริง เมื่ออบรมเสร็จ ผู้ผ่านการอบรมที่ได้รู้กระบวนการทำงานจะเสนอโครงการแก้ปัญหาเร่งด่วน ที่ตรงกับความต้องการแก้ปัญหาในชุมชนของตน เช่น ที่แม่กอนคือการบรรเทาปัญหาด้านการบริหารจัดการน้ำทั้งหมด

นอกจากการจัดการน้ำแล้ว  ยังมีการบริหารจัดการเรื่องที่ดินทำกินของชาวบ้าน ทั้งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแดง และนอกอุทยาน เพื่อวางแผนส่งเสริมด้านการเกษตรแบบรายแปลง ด้วยความร่วมมือจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์กรมหาชน)

รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนในทุกด้าน มีนักพัฒนาทางเลือกไปลงพื้นที่สำรวจข้อมูลทางเศรษฐกิจ สังคม จนสามารถจัดทำแผนที่เดินดิน ระบุที่อยู่อาศัยแต่บะหลังคาเรือนด้วยมือแบบละเอียด  ทำให้รู้สภาพความเป็นอยู่ ชีวิต วัฒนธรรม จนสามารถทำปฏิทินชุมชนได้อย่างถูกต้อง

“เมื่อได้ข้อมูลมาจึงนำมาวางแผนแนวทางในการสร้างอาชีพ ให้กับคนในชุมชนได้ตรงจุด เช่นการปลูกพืช ผัก ผลไม้เมืองหนาว เพื่อส่งจำหน่ายหรือการทำงานฝีมือเสื้อผ้าสไตล์ชนเผ่าตามที่ชาวบ้านถนัด โดยไม่ไปเปลี่ยนวิถีความเป็นอยู่เดิมๆของเขา เป็นการส่งเสริมพัฒนาที่อยู่ในวิถิชีวิตแบบเดิม ไม่ให้ชาวบ้านต้องเปลี่ยนความเป็นตัวตนของเขา”

นี่คือตัวอย่างการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ร่วมมือกันจากหลายฝ่ายเพื่อให้ชาวบ้านได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามศาสตร์พระราชา ที่นำมาใช้ได้ทุกยุคสมัย

 

นุสรา ทองอุไร– anusra137@gmail.com