ไลฟ์สไตล์ » ตามรอยสมเด็จครู-อาจารย์ฝรั่ง อัจฉริยะศิลปินแห่งแดนสยาม

ตามรอยสมเด็จครู-อาจารย์ฝรั่ง อัจฉริยะศิลปินแห่งแดนสยาม

31 สิงหาคม 2020
1083   0

 

 

เบื่อๆกันใช่ไหมช่วงนี้ work from home กันมาหลายเดือน จะไปเที่ยวต่างจังหวัดก็ไม่แน่ใจโควิด หายดีหรือยัง จะไปต่างประเทศก็ลืมไปเลยปีนี้ ส่วนบางคนงบประมาณไม่ค่อยมี หรือบางคนมีแต่ไม่กล้าใช้เงินเพราะไม่แน่ใจในสถานการณ์ยามนี้แพงๆไม่กล้าจ่าย

มาค่ะ เรามีสถานที่เที่ยวแบบของดีราคาถูก  ใช้เวลาแค่ครึ่งค่อนวัน ในงบ 100 บาท ไปเสพศิลปะผสมศาสตร์ผสานศิลป์ อินแบงค้อกกัน บัตรเครดิตกรุงไทย ชวนไปเยี่ยมยลเรื่องราวที่น่าสนใจผ่านประวัติชีวิตและผลงานการออกแบบสร้างสรรค์ความงามทางศิลปะ ที่แฝงด้วยความหมายอันล้ำลึกมากมายของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ กับศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี สองบุคคลสำคัญที่เปรียบเสมือน   เสาหลักแห่งวงการศิลปะไทยและศิลปกรรมร่วมสมัย

ในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมทั่วโลก ที่ส่งอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงแนวคิดรูปแบบทางศิลปกรรมหลายแขนงต่อประเทศไทยอย่างยิ่งในช่วงกว่าร้อยปีที่ผ่านมา

ท่านแรกคือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ หรือเป็นที่รู้จักกันในพระนามสมเด็จครู เจ้านายชั้นสูงที่เป็นอัจฉริยะศิลปิน ด้วยผลงานการออกแบบและสร้างสรรค์ศิลปกรรมหลากหลายแขนง เช่น ด้านจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม ดนตรี เป็นแบบอย่างให้ศิลปินรุ่นหลังได้ศึกษาจนถึงปัจจุบัน

ด้วยการออกแบบที่มีรูปลักษณ์ทันสมัย โดยพัฒนาต่อยอดจากศิลปกรรมรูปแบบดั้งเดิม แต่ไม่สูญเสียความเป็นไทย และยังร่วมสมัยกับสังคมวัฒนธรรมไทยยุคใหม่ได้เหมาะสมกับกาลเวลา

ส่วนอีกท่านหนึ่งเป็นอาจารย์สอนศิลปะชาวฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี่ PROF.Corado Feroci หรือที่รู้จักกันในนาม ศิลป์ พีระศรี  หรืออาจารย์ฝรั่ง ผู้ที่ได้รับการยกย่องในวงการศิลปะว่าเป็นบิดาแห่งศิลปะไทยยุคใหม่ ผู้วางรากฐานการศึกษาศิลปกรรมร่วมสมัยในประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้า และมีมาตรฐานตามแบบสากลจนพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร อันเป็นมหาวิทยาลัยด้านศิลปะแห่งแรกที่ถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่น สร้างศิลปินสืบสานผลงานศิลปะร่วมสมัยแขนงต่างๆสืบต่อไป

เราเริ่มจากหอประติมากรรมต้นแบบ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เดิมนั้นเป็นโรงปั้นหล่อและหลอมโลหะของกรมศิลปากร ปัจจุบันนี้อยู่ในความดูแลของสำนักช่างสิบหมู่กรมศิลปากร จิตกร วงษ์มาตร์ นายช่างศิลปกรรมชำนาญงาน เล่าว่าที่นี่เป็นโรงงานต้นแบบในการปั้นขึ้นรูป การปั้นอนุสาวรีย์ด้วยดิน หรือต้นแบบของบุคคลสำคัญที่เราเห็นกันคุ้นตาตามสถานที่ต่างๆ เกิดขึ้นที่นี่ ภายในโรงต้นแบบนี้ยังมีงานประติมากรรมอยู่ที่นี่อยู่เกือบ 100 ทั้งชิ้นเล็กชิ้นใหญ่

เขาเล่าว่าขั้นตอนของการทำพิมพ์ชิ้นแบบยุคแรกที่ทำด้วยปูนพลาสเตอร์ ในสมัยที่ยังไม่มียางซิลิโคน ช่วยให้เราทราบและเข้าใจถึงการปั้นหล่องานประติมากรรมต่างๆว่ากว่าจะได้อนุสาวรีย์ เทวรูป หรือแม้แต่พระพุทธรูปที่ประดิษฐายตามสถานที่ต่างๆ ที่ให้เราได้สักการะบูชานั้น มีขั้นตอนในการทำอย่างไร ทำให้เราเห็นถึงคุณค่าควบคู่กับความศรีทธาที่มีมาอยู่แต่เดิม โดยเฉพาะงานของ อ.ศิลป์ พีระศรี ที่ท่านบรรจงหาดินมาเป็นวัตถุดิบที่ต้องเลือกดินสีงูเหลือม  จากบ่อเฉพาะที่จ.ปทุมธานี ซึ่งท่านบอกว่าเป็นดินที่ดีที่สุดในการปั้นและกรมศิลป์ซื้อที่ดินบ่อดีนี้ไว้เพื่อใช้วัตถุดิบในการปั้นจากที่แห่งนี้

เดินต่อไปใกล้ๆอีกนิด เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ ที่แห่งนี้จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือ ระหว่างบรรดาลูกศิษย์และผู้ใกล้ชิดเพื่อรำลึกถึงเกียรติคุณของท่าน ในฐานะผู้ให้กำเนิดการศึกษาศิลปะสมัยใหม่ ศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยและผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร

รวมทั้งได้ชมห้องทำงานของอ.ศิลป์ ที่มีเครื่องไม้เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำงานของท่านผลงานการปั้นของท่าน ที่ท่านชื่นชอบ ปั้นเองเป็นการส่วนตัว มิใช่งานสั่ง หรืองานของราชการ ตั้งแต่มาอยู่ประเทศไทยใหม่ๆ มีทั้งผลงานจิตกรรมและประติมากรรม

รวมทั้งภาพพิมพ์ของท่านที่ต่อมา เลื่อนยศเป็นศาสตราจารย์ศิลป์  ทั้งยังมีผลงานภาพพิมพ์ของบรรดาศิษย์เอกของท่านอีกหลายคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลงานศิลปกรรมในยุคเริ่มแรกของศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย ซึ่งเป็นงานต้นแบบที่หาดูยาก

ต่อจากนั้นใช้เวลาเดินเพียง 5 นาที เราเดินต่อไปยังตึกถาวรวัตถุหรือตึกแดง เป็นอาคารโบราณที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญแห่งชาติ รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ เป็นผู้อำนวยการสร้าง  เป็นที่เรียนของพระสงฆ์ และใช้บำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวิชรุณหิศ แต่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จในรัชกาลของพระองค์ ทรงสวรรคตเสียก่อน

รัชกาลที่ 6 จึงโปรดให้สร้างต่อจนเสร็จ แล้วพระราชทานเป็นหอสมุดสำหรับพระนคร ต่อมารัชกาลที่ 7 ทรงให้ใช้เป็นที่เก็บหนังสือ และพระราชทานนามใหม่ว่า หอพระสมุดวชิรญาณและเป็นอาคารหอสมุดแห่งชาติ แล้วเปลี่ยนเป็นสำนักงานราชบัณฑิตยสถาน ต่อมากรมศิลปากรได้ปรับปรุงเป็นที่จัดแสดงนิทรรศกาลพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 5

ภายในอาคารตกแต่งด้วยไม้สวยงาม เป็นเรือนยาวรูปตัวแอล นำเสนอเรื่องการเลิกทาส การไปรษณีไทย  การริเริ่มรถไฟไทย การมีน้ำประปาใช้ งานด้านต่างๆของรัชกาลที่ 5 ที่พระองค์นำมาพัฒนาประเทศชาติหลังจากเสด็จกลับจากประพาสยุโรป มาที่นี่คุณจะได้ชมนิทรรศกาลเกี่ยวกับพระราชประวัติที่สวยดูทันสมัยและเข้าใจง่าย พร้อมฟังบรรยายเรื่องสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานความเป็นตะวันตกกับศิลปะไทยประเพณีอย่างลงตัว

หลังจากแวะพักทานอาหารเที่ยงแถวท่ามหาราช เสร็จแล้ว เราก็เดินทางต่อไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหอศิลป หรือ หอศิลป์เจ้าฟ้า ถือเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของประเทศ แต่เดิมนั้นเป็นโรงกษาปณ์ ซึ่งออกแบบโดย คาร์โล อัลเลกรี สถาปนิกชาวอิตาลี่ ซึ่งปัจจุบันเป็นสถานที่เก็บรวบรวมและจัดแสดงผลงานทัศนศิลป์ที่สำคัญของชาติ

ปัทมา ก่อทอง ภัณฑารักษ์ชำนาญการ นำชมพัฒนาการทางด้านทัศนศิลป์ของไทยผ่านผลงานศิลปกรรมที่เป็นสมบัติของชาติ และยังมีนิทรรศกาลพิเศษพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2454 ผ่านสายตาของภาพร่างจิตรกรรมในพระที่นั่งอนันตสมาคม ผลงานโดยกาลิเลโอ คินี จิตรกรชาวอิตาลี่ ซึ่งถือเป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์งานทัศนศิลป์ของไทย ที่เห็นแล้วให้ความรู้สึกย้อนเวลากลับไปในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อ 109 ปีที่แล้ว

อีกทั้งยังมีผลงานจิตรกรรมของในหลวงร.9 ที่เป็นงานต้นแบบอยู่กว่า 10 ชิ้นจัดแสดงให้ชมด้วย

 ในช่วงที่หลายคนทำงานที่บ้านมาตลอด 3-4 เดือน จนเริ่มเบื่อ หรืออยากหาแรงบันดาลใจในงานศิลปะ  ขอแนะนำการท่องเที่ยวแบบ one day trip ทั้งหมดที่กล่าวมาอยู่ในรัศมี 10 กิโลเมตร ที่คุณสามารถเดินชิวๆใช้เวลาเพียงครึ่งค่อนวันได้อย่างสบายๆ

ได้เรียนรู้ทั้งประวัติศาสตร์และศิลปะของชาติไปพร้อมๆกัน บางแห่งเข้าชมฟรี บางแห่งเสียค่าเช้าชมเพียง 50 บาท  ราคาถูกมากสำหรับการจ่ายค่าความรู้ ประวัติศาสตร์ผสมศิลป์

กรุงเทพฯเรานี้มีเรื่องๆดีที่น่าสนใจอีกมากที่คุณอาจยังไม่รู้  เที่ยวไทยดีกว่าที่คิด  1 วัน 100 บาท ก็เที่ยวพิพิธภัณฑ์ได้หลายแห่ง ตบท้ายด้วยไปชมวัดพระแก้วยามนี้โล่งโปร่งสบายคนน้อยนิดไม่เบียดเสียด เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ถือเป็นนาทีทองที่คนไทยควรไปวัดพระแก้วในช่วงนี้ที่สุด ไปเที่ยวกันเถอะไทยเที่ยวไทยเงินไม่รั่วไหล

 

เรื่อง อนุสรา ทองอุไร/ ภาพ :  KTC anusra137@gmail.com