สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล แถลงผลงานสำคัญในรอบ 3 ปี ภายใต้แนวคิด “The Premier by depa” ชูความเป็นแถวหน้าด้านการส่งเสริมและพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในทุกมิติ ทั้งภาคเศรษฐกิจ สังคม และความร่วมมือระดับนานาชาติ ผ่านผลสำเร็จจากกลไกส่งเสริมและสนับสนุนที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมเผยแผนการดำเนินงานปี 2564 ในการเป็นองค์แถวหน้าที่ส่งเสริมและนำพาไทยสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืน
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยในงาน “The Premier by depa” งานแถลงผลการดำเนินงานสำคัญในรอบ 3 ปี ว่า ขณะนี้ ดีป้า กำลังเดินหน้าเข้าสู่ปีที่ 4 ซึ่งแผนการดำเนินงานจะยังคงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและนำพาประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ผ่านกลไกส่งเสริมและสนับสนุนที่ถูกพัฒนาขึ้น และคงความเป็นแถวหน้าที่พร้อมทำในสิ่งที่ผู้อื่นยังไม่ริเริ่มดำเนินการ
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ดีป้า ทำงานสอดประสานกันเป็น “ทีม” โดยมี Think Tank ที่ดำเนินการวิเคราะห์แผนระดับชาติถึงแผนส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล การเสนอกฎหมายที่เอื้อต่อระบบนิเวศด้านเศรษฐกิจดิจิทัล อีกทั้งกำหนดกลยุทธ์และกลไกสำคัญที่ส่งผลให้การดำเนินงานของ ดีป้า เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนากำลังคนสู่ยุคดิจิทัล การยกระดับภาคเศรษฐกิจสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ การขับเคลื่อนชุมชนสู่สังคมดิจิทัล และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับนวัตกรรมดิจิทัล พร้อมกันนี้ ดีป้า ยังให้ความสำคัญกับความร่วมมือกับเครือข่ายระดับนานาชาติ ซึ่งทั้งหมดอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการใหญ่ (กลุ่มยุทธศาสตร์และบริหาร)” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลจะต้องดำเนินการบนพื้นฐานของข้อมูล ดังนั้นสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi) หนึ่งในสถาบันภายใต้สังกัด ดีป้า จึงมีความสำคัญ ซึ่งขณะนี้ทีม Think Tank มีการจัดเก็บข้อมูลปฐมภูมิ (Primary Data) อาทิ การสำรวจข้อมูลเพื่อประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยจัดทำระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อแสดงผลข้อมูลสภาพรวมและแนวโน้มอุตสาหกรรมดิจิทัล การสำรวจความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัลรายไตรมาส และการสำรวจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในอุตสาหกรรมการผลิต นอกจากนี้ ดีป้า ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักรู้ด้านทักษะดิจิทัล กฎหมาย ความปลอดภัย ประโยชน์และโทษจากดิจิทัลสำหรับผู้สูงวัย ผู้พิการ เด็กและเยาวชน เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนากำลังคนสู่ยุคดิจิทัล
โดย ดีป้า มุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนา “คน” สู่การเป็น “ทุนมนุษย์” (Human Capital) ของประเทศ โดยการส่งเสริมให้เยาวชนไทยเข้าถึงหลักสูตรต่าง ๆ พร้อมเพิ่มทักษะความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยี ดิจิทัล (นิวสกิล) ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ด้าน Coding ได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง codingthailand.org และส่งผ่านองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) แก่นักศึกษาจบใหม่ ผู้ว่างงาน รวมถึงผู้ที่ต้องการอัพสกิล-รีสกิลตนเองสู่การเป็นกำลังคนดิจิทัล ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมของประเทศ อีกทั้งมีความพร้อมเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลต่อไป
ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้ “ชุมชน” สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลไปแล้ว 177 ชุมชน โดยสามารถยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่นและสร้างรายได้ให้ชุมชนแล้วมากกว่า 137 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีด้านการเกษตรอัจฉริยะ เทคโนโลยีการผลิตและแปรรูป โดรนเพื่อการเกษตร แอปพลิเคชันสำหรับการบริหารจัดการธุรกิจให้กับวิสาหกิจชุมชน เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต และเทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยว ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ด้านการขับเคลื่อนชุมชนสู่สังคมดิจิทัล โดยภารกิจต่าง ๆ มี ดร.รัฐศาสตร์ กรสูตรองผู้อำนวยการใหญ่ (กลุ่มสังคมและกำลังคนดิจิทัล) เป็นผู้ดำเนินการ
ขณะที่ยุทธศาสตร์ด้านการยกระดับภาคเศรษฐกิจสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ ดีป้า โดยสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น รับบทเป็น “ทีมลงทุนร่วมสร้าง” สร้างระบบนิเวศด้านเศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการดิจิทัลได้พบกัน อีกทั้งร่วมลงทุนและหาตลาดภาครัฐและภาคเอกชนสำหรับผู้ให้บริการ โดยที่ผ่านมา ดีป้า ได้ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนดิจิทัลสตาร์ทอัพสัญชาติไทยไปแล้ว 98 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวม 6,890ล้านบาท พร้อมเดินหน้าผลักดันดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยสู่ระดับสากล อีกทั้งเป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยเข้าสู่ระดับ Series A แล้ว 4 ราย และมีแผนที่จะสนับสนุนให้เกิด “ยูนิคอร์น” สัญชาติไทยให้ได้ในที่สุด
พร้อมกันนี้ ดีป้า ยังสร้างมาตรฐานที่ยั่งยืน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ใช้บริการ ทั้งผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ตลาดสด และเกษตรกร สามารถเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) ด้วยกลไกต่าง ๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลไปแล้ว 6,407 ราย สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้สำหรับปีนี้ที่ 4,000 ราย ซึ่งดำเนินการโดย นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการใหญ่ (กลุ่มงานเศรษฐกิจดิจิทัล)
นอกจากนี้ ดีป้า ยังมีทีมโครงการพิเศษที่ดำเนินยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับนวัตกรรมดิจิทัล โดย ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการใหญ่ (กลุ่มงานโครงการพิเศษ) ที่เล็งเห็นว่า โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ อีกทั้งดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติ ดังนั้น ดีป้า จึงเร่งยกระดับพื้นที่ที่มีความพร้อมจากทั่วประเทศสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ตามเกณฑ์ประเมินมาตรฐาน ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ทั้งกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพลังงาน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคเอกชน รวมถึงการมีส่วนรวมของประชาชนในพื้นที่ในการวิเคราะห์และเฟ้นหาบริการที่เหมาะสมจากเครือข่ายดิจิทัลสตาร์ทอัพ ก่อนนำมาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดและยั่งยืน โดยตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมามีการประกาศเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะแล้ว 40 เมือง และตั้งเป้าที่จะพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทย จำนวน 100 เมืองภายในปี 2565
ดีป้า โดยสถาบันไอโอทีและนวัตกรรมดิจิทัล ยังได้พัฒนา Thailand Digital Valley บนพื้นที่ 30 ไร่ในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand หรือ EECd) เพื่อเป็นศูนย์กลางการออกแบบ พัฒนา วิเคราะห์ ทดสอบ ทดลองเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลขั้นสูง ไม่ว่าจะเป็น IoT, Data Science, 5G Applications, Smart Devices, High Value-Added Software, Robotics, Cloud และ Digital Services อีกทั้งเป็นพื้นที่จับคู่ธุรกิจระหว่างบริษัทชั้นนำระดับโลกกับดิจิทัลสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะเทคโนโลยีเป้าหมายใน 6 สาขา ประกอบด้วย เทคโนโลยีเพื่อการเงิน (FinTech) เทคโนโลยีเพื่อการเกษตร (AgTech) เทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยว (Travel Tech) เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ(Health Tech) เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (EdTech) และเทคโนโลยีเพื่อการบริการภาครัฐ(GovTech) ก่อนขยายตลาดเชิงพาณิชย์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
พร้อมกันนี้ ดีป้า ประสงค์ที่จะเปลี่ยนสังคมผู้บริโภคไปสู่สังคมผู้ใช้ให้เกิดประโยชน์ พร้อมผลักดันให้เกิดการสร้างนวัตกรรมร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา เพื่อขับเคลื่อนระบบนิเวศน์ด้านดิจิทัลอย่างเข้มแข็ง อีกทั้งเป็นแรงจูงใจและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและธุรกิจชั้นนำในอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยมุ่งหวังให้ Thailand Digital Velley ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลขั้นสูงของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN Digital Hub) ต่อไป
โดยภายใน Thailand Digital Valley ประกอบด้วย 5 อาคาร รวมพื้นที่ใช้สอยกว่า 86,000 ตารางเมตร ได้แก่ depa Digital One Stop Service Centre อาคารหลังแรกในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่สร้างแล้วเสร็จและมีการจองสิทธิ์เช่าโดยเอกชนเต็มพื้นที่แล้ว ขณะที่อาคารหลังที่สองคือ Digital Startup Knowledge Exchange Centre ที่ได้รับเกียรติจาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ทรงเป็นองค์ประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ สร้างแล้วเสร็จไปกว่า 50% และมีบริษัทเอกชน รวมถึงดิจิทัลสตาร์ทอัพจองสิทธิ์เช่าพื้นที่แล้วกว่า 25% นอกจากนี้ ยังมีอาคาร Digital Co-creation & Innovation Centre ที่อยู่ระหว่างเตรียมประกาศผู้รับจ้าง อาคาร Digital Edutainment Complex และอาคาร Digital Go Global Centre ซึ่งทั้งหมดจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี2566
ปี 2564 ดีป้า พร้อมเดินหน้าผลักดันในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านมหาวิทยาลัยสู่ยุคดิจิทัล โดยการจัดตั้ง Drone University เพื่อพัฒนาคนให้รู้จักนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ประกอบวิชาชีพ รวมถึงการจัดตั้ง AI University โดยให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างทักษะ ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อผลิตบุคลากรตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม การผลักดันเครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ดิจิทัลและไอโอทีในชื่อ dSURE การสร้างแพลตฟอร์มไทยเพื่อคนไทย (National Platform for All) การนำเทคโนโลยี 5G มาเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนา Tech Hunting รวมถึงBig Data พร้อมสานต่อการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ และการพัฒนา Thailand Digital Valley
“ดีป้า จะคงความเป็นแถวหน้าด้านการส่งเสริมและพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ตามแนวคิด ‘Premier’ ที่พร้อมทำงานเชิงรุก เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนคิดเป็น ทำเป็น และทำได้ อีกทั้งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืน” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
Email : leaflet789@gmail.com