ไลฟ์สไตล์ » 3 แนวทางผันตัวเป็น “นักเรียนรู้ตลอดชีวิต” ที่ทุกองค์กรต้องการ

3 แนวทางผันตัวเป็น “นักเรียนรู้ตลอดชีวิต” ที่ทุกองค์กรต้องการ

23 กันยายน 2020
1140   0

โลกยุคใหม่มีการเปลี่ยนแปลงที่เร่งอัตราเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ กำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในอดีตต้องใช้ระยะเวลาถึง 62 ปีในการพัฒนาเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมยานยนต์จนได้รับความนิยม

แต่ปัจจุบัน YouTube ใช้เวลาเพียง 4 ปีในการเติบโตและเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้ทั่วประเทศไทย ไม่ต่างกัน Facebook ใช้ระยะเวลาเพียง 3 ปีในการมีผู้ใช้กว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลก “นวัตกรรมทางธุรกิจ” มีพัฒนาการในอัตราเร่งสูงสุดอย่างไม่เคยมีมาก่อน มีองค์กรจำนวนไม่น้อยที่ปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานในองค์กรใหม่ทั้งหมด สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมออกมาตอบรับสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน หลายองค์กรสามารถออกแบบนวัตกรรมที่โดนใจผู้บริโภคในไม่กี่สัปดาห์

อริญญา เถลิงศรี chief Capability Officer & Managing Director – SEAC ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่าทั้งธุรกิจและผู้คนในยุคนี้ต่างเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทายยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ต้องรับมือกับข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงรายวินาที วิถีชีวิตและไลฟ์สไตล์พลิกแบบหน้ามือเป็นหลังมือได้ในเวลาไม่ถึงเดือน จนไม่สามารถคาดการณ์สถานการณ์ใดๆ ได้เลย เพราะทุกวันนี้ไม่มีอะไรแน่นอน วันนี้คุยเรื่องนี้เป็นแบบนี้ แต่พรุ่งนี้อาจเป็นอีกแบบหนึ่งก็เป็นได้ องค์ความรู้จึงดิ้นได้ตลอดเวลา

เมื่อการเรียนรู้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุ แต่อยู่ที่ Mindset

ไม่ใช่ทุกคนที่จบปริญญาแล้วชีวิตจะประสบความสำเร็จ หลายคนเรียนจบมาแต่ไม่อัพเดตความรู้ทักษะใหม่ๆ เลย สุดท้ายจะมีแต่ล้าสมัยเอาทุกวัน จากเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ในภาคแรงงาน ธุรกิจหาแรงงานที่ต้องการไม่ได้ ธุรกิจพัฒนาช้าไม่ทันที่จะต่อกรกับการเปลี่ยนแปลงในโลกยุค Disruption

แม้ในองค์กรจะมีคนเก่งและมีความสามารถมาก จบจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง หรือจัดหลักสูตรฝึกอบรมพนักงานจากสถาบันชื่อเสียงก็ตาม จริงๆ แล้ว ความรู้ในวันนี้และในอนาคต แค่ 2-3 ปีก็หมดอายุแล้ว ปีที่แล้วใช้ได้ ปีนี้อาจใช้ไม่ได้แล้ว ผู้นำองค์กรและพนักงานจึงไม่สามารถนั่งนิ่งนอนใจและรอความรู้เดิมๆ เสื่อมและล้าหลังไป

หลายคนอาจเคยเห็นองค์กรที่ตัดสินใจเลือกจ้างพนักงานที่มีอายุ 70 หรือ 80 ปีขึ้นมาเป็น CEO เข้ามาบริหารบริษัท เหตุผลหนึ่งที่ CEO คนนั้นมีมากกว่า CEO วัยหนุ่มสาวไฟแรง แม้จะอายุมากแล้วก็ตาม นั่นก็คือ การไม่หยุดเรียนรู้และพัฒนาตนเอง เปิดรับเทรนด์และพร้อมเรียนรู้สกิลใหม่อยู่เสมอ แม้ต้องทำงานในโลกดิจิตอลที่ไม่คุ้นเคย หรือด้วยอายุที่มากในช่วงที่จะเข้ามาบริหารงาน แต่เพราะการยอมรับว่าตัวเอง “ไม่รู้” เป็นเหมือนน้ำที่ไม่เต็มแก้วอยู่เสมอ มีความกระหายในการเรียนรู้ จึงไม่มีอะไรมาหยุดยั้งศักยภาพได้ นี่คือคนคุณภาพ เพราะคนที่น่ากลัวที่สุดในสนามรบธุรกิจในโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาไม่ใช่คนที่รู้ดีที่สุด แต่คือ “คนที่ไม่หยุดเรียนรู้”

นอกจากนี้ คำว่า Lifelong Learning เกิดขึ้น เพราะพิสูจน์แล้วว่า ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม หากคุณมี Mindset ที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา จะทำให้คุณพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ หมั่นฝึกฝนจนสร้างโอกาสให้ชีวิตตนเอง หลายองค์กรพบปัญหากับทักษะของพนักงานใหม่ที่ไม่เพียงพอต่อการทำงานจริง แม้จะเป็นบัณฑิตจากสถาบันชั้นนำ หลายครั้งพบว่าเมื่อลงหน้างาน หลายๆ ทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานไม่สามารถหาได้จากเด็กจบใหม่ในตอนนี้

“บางคนมี Technical Skill ที่ดี แต่ยังขาดสกิลที่จำเป็นต่อการทำงานในหลายๆ เรื่อง เพราะในการทำงานจริงต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ อีกอย่างหลากหลาย เช่น การทักษะในด้านการบริหารจัดการ ภาวะผู้นำ การแก้ปัญหาหรือตัดสินใจเฉพาะหน้า นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้น”

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในโลกยุคปัจจุบัน การเป็นนักเรียนนั้นไม่เพียงพอต่อการรับมือกับข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นทุกวินาที จากการเป็นแค่นักเรียน (Student) จึงต้องสร้างจุดเปลี่ยนให้กับตัวเองด้วยการสร้างทัศนคติของการเป็น ผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learner) ผู้ที่เรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ คอยหาความรู้ให้ตัวเองอย่างต่อเนื่องและเต็มใจทั้งในเรื่องส่วนตัวและเรื่องงาน  เพราะแค่หยุดเดิน หยุดเรียนรู้ นั้นแปลว่าเรากำลังถอยหลังแล้ว

แล้วเราจะเป็น “นักเรียนรู้ตลอดชีวิต” ได้อย่างไร

1.เริ่มต้นถามตัวเองว่าเป้าหมายในแต่ละช่วงเป็นอย่างไร

การตั้งเป้าหมายก็เพื่อตอบโจทย์ให้ตัวเองทำตามสิ่งที่ตั้งใจไว้ให้สำเร็จ แต่ละช่วงชีวิตเรามีเป้าหมายไม่เหมือนกัน การออกแบบชีวิตโดยตั้งเป้าหมายในอีก 10 ปี 15 ปีข้างหน้าให้ชัดเจนจะทำให้เราเดินทางไปสู่ความสำเร็จได้ง่ายขึ้น ยิ่งภาพชัดเจนเท่าไร คุณจะยิ่งมองเห็นภาพตัวเองที่จะประสบความสำเร็จในอนาคตที่ชัดเจนยิ่งขึ้นเท่านั้น

2.มีความมุ่งมั่น (commitment) และความต่อเนื่อง (consistency)

คนประสบความสำเร็จให้ความสำคัญกับการเดินทางไปสู่เป้าหมายไม่ใช่คิดแต่ความสำเร็จแล้วไม่ลงมือทำ การมุ่งมั่น ทุ่มเท ไม่ใช่การทำอย่างไม่มีแบบแผน แต่เป็นการปฏิบัติตามแผนอย่างต่อเนื่อง และไม่ยกเลิกเป้าหมาย โดยทบทวนเป้าหมายอยู่เสมอ กระตุ้นตัวเองให้มีแรงบันดาลใจในการทำงานอยู่เรื่อยๆ รวมทั้งสร้างความเชื่อว่า ปัญหาและอุปสรรคมีทางแก้ไขเสมอ

3.Test, Learn และ Iterate ต่อไป

ฝึกฝนสร้าง prototype และ test ชีวิตของเรา สิ่งสำคัญคือการลงมือทำ เพื่อให้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ วิธีการใหม่ๆ ที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม เมื่อไหร่ที่ลองทำแล้วไม่สำเร็จ ก็ไม่ควรยอมแพ้และล้มเลิกความตั้งใจ เมื่อพลาดก็เรียนรู้และลงมือลองทำใหม่ รู้จักเรียนรู้จากความล้มเหลว Fail Fast – Fail Cheap – Fail Forward เหมือน ผู้ประสบความสำเร็จอย่าง Thomas Edison และ Jack Ma ที่สามารถอยู่กับความผิดพลาดและเรียนรู้ที่จะเติบโตพัฒนาต่อไป

Aldous Huxley นักเขียนชาวอังกฤษ ได้กล่าวไว้ว่า “ในจักรวาล มีสิ่งหนึ่งที่คุณสามารถปรับปรุงได้อย่างแน่นอน และสิ่งนั้นก็คือตัวคุณเอง” เมื่อสร้าง Mindset ที่ใฝ่รู้ตลอดเวลา สิ่งต่อมาคือคุณสามารถ Upskill และ Reskill ตัวเองให้เกิดทักษะใหม่ เกิดวิธีการแบบใหม่ มุมมองใหม่ที่จะเป็นคนที่มีคุณภาพกว่าเดิมได้

เปิดโลกแห่งการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองกับ SEAC พร้อมสัมผัสประสบการณ์การเรียนรู้ตลอดชีวิตกับ YourNextU โมเดลการเรียนรู้แบบ Blended Learning ที่ให้คุณเรียนรู้ในรูปแบบไม่มีลิมิต (Unlimited) ตั้งแต่วันนี้ ที่ www.yournextu.com

 

เรื่องโดย อนุสรา ทองอุไร

Email : anusra137@gmail.com / leaflet789@gmail.com