ท่องเที่ยว » ความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน คืออนาคตของการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

ความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน คืออนาคตของการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

8 กรกฎาคม 2020
1169   0

เป็นที่ทราบกันดีว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกสั่นคลอนอย่างรุนแรง ส่งผลไปถึงอุตสาหกรรมการเดินทางและการท่องเที่ยว (คิดเป็น 10% ของเศรษฐกิจโลก) ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด รวมถึงก่อให้เกิดผลกระทบแบบโดมิโน (domino effect) ที่รุนแรงในระบบนิเวศทางธุรกิจ

เดเมียน เฟิร์ช (Damien Pfirsch) รองประธานฝ่ายพันธมิตรเชิงกลยุทธ์และโปรแกรม อโกด้า กล่าวว่า ไม่ได้มีเพียงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการเดินทาง และการท่องเที่ยวโดยตรงอย่าง ธุรกิจการบิน และธุรกิจโรงแรมเท่านั้นที่ต้องเผชิญวิกฤตนี้ แต่อีก 80% ของภาคการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่พักขนาดเล็ก ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจการทำความสะอาด ธุรกิจนำเที่ยว ไปจนถึงการขนส่ง ต่างก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

สภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก (World Travel and Tourism Council) คาดการณ์ไว้ว่า ตำแหน่งงานมากถึง 75 ล้านตำแหน่งจะต้องเผชิญความเสี่ยงอันเนื่องมาจากความรุนแรงของการแพร่ระบาด ด้วยเหตุนี้เองจึงเกิดคำถามขึ้นว่า “อุตสาหกรรมการเดินทางและการท่องเที่ยวจะสามารถฟื้นตัวได้หรือไม่” คำตอบคือ “ได้” แต่ต้องอาศัยการร่วมมือกันอย่างจริงจังของทุกฝ่าย แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนด้วยการ

1.การสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นสิ่งสำคัญ

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหนุน 1 ใน 10 ตำแหน่งงานของแรงงานทั้งโลกในเอเชียแปซิฟิก อเมริกา และยุโรป อีกทั้งยังนับเป็น 13.3% ของการจ้างงานทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รัฐบาลสามารถ และกำลังมีบทบาทสำคัญในการช่วยเยียวยาสนับสนุนอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ผู้คนดำรงชีวิตต่อไปได้ และฟื้นฟูเศรษฐกิจไปด้วยในเวลาเดียวกัน

หลายรัฐบาลมีการวางแผนปล่อยแพ็กเกจการท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว โดยมีจุดประสงค์ให้แพ็กเกจการท่องเที่ยวช่วยบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ ส่วนรัฐบาลไทยเองก็มีการวางแผนในเรื่องนี้เช่นกัน โดยจะเริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม ด้วยงบประมาณ 400 ล้านบาทตามที่ประกาศไปก่อนหน้านี้ การให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในการรักษาความต่อเนื่องทางธุรกิจในระยะสั้น

แต่ยิ่งไปกว่านั้นการทำงานร่วมกัน และความร่วมมือกับผู้เล่นใหญ่ในอุตสาหกรรม ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนของภาคส่วนนี้ ทั้งนี้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็ไม่ได้นิ่งเฉยรอจนวิกฤตนี้ผ่านไป ตอนนี้หลายรัฐบาลได้เริ่มลงมือทำงานร่วมกับผู้เล่นใหญ่ในอุตสาหกรรม และเหล่าธุรกิจ SME เพื่อพัฒนา และโปรโมทมาตรฐานความปลอดภัยและความสะอาดที่โปร่งใสมากขึ้นให้กับทุกธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เพื่อเป็นการร่วมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวอีกครั้ง กระทรวงการท่องเที่ยว และองค์กรประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยว (DMO) สามารถร่วมมือกับผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวออนไลน์ (OTA) เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการออกไปท่องเที่ยว กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวไปเที่ยวแบบยั่งยืนตามสถานที่ต่าง ๆ ในประเทศ เพื่อสนับสนุนชุมชนที่อยู่นอกกรอบความสนใจของนักท่องเที่ยว

ซึ่งก็ได้รับผลกระทบจากการระบาดเช่นกัน แพลตฟอร์มการท่องเที่ยวแบบดิจิทัลเหล่านี้มีเครื่องมือทางการตลาดมากมาย และสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้เป็นจำนวนมาก เปรียบเสมือนสะพานเชื่อมเพื่อช่วยเหลือ DMO ในการเข้าถึงนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ ขณะที่ DMO ก็สามารถสนับสนุนการวางแผนท่องเที่ยวในอนาคตของนักเดินทางได้ โดยให้งบสนับสนุนเป็นตัวกระตุ้นนักท่องเที่ยว พร้อมกับที่ที่พักต่าง ๆ ก็มีนโยบายการยกเลิกการจองห้องพักที่ยืดหยุ่นขึ้น

2.บทบาทของผู้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม

ผู้เล่นในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสามารถใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุงสินค้าและบริการ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือนักเดินทางในอนาคต ทั้งนี้องค์กรการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) ได้มีข้อแนะนำใหม่สำหรับช่วยเหลืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลกในการกลับมาดำเนินการอีกครั้งอย่างราบรื่นและปลอดภัย

โดยเน้นไปที่ความสำคัญของนวัตกรรมและเทคโนโลยี ผู้ให้บริการที่พัก สายการบิน และบริษัททัวร์จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับความคาดหวังใหม่ที่เปลี่ยนไปของนักเดินทาง หลังสถานการณ์โควิด-19 นวัตกรรมใหม่ที่สามารถคาดการณ์ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปได้นั้นกำลังกลายเป็นสิ่งจำเป็น รวมไปถึงความสามารถในการระบุวิธีแก้ปัญหาที่ให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยและความยืดหยุ่นในการเดินทางซึ่งยังอยู่ในช่วงภาวะซบเซา ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าด้วย

ผลการวิจัยของอโกด้าแสดงให้เห็นว่านักเดินทางมีความคาดหวังมากขึ้นต่อประสบการณ์ที่ได้รับจากการเดินทางในช่วงคริสต์ทศวรรษ 2020 (ปี 2020-2029) รวมถึงเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากว่าเดิมเพื่อการจองห้องพักที่รวดเร็วและการเดินทางที่สะดวกสบาย ซึ่งนอกเหนือจากการปรับปรุงตัวเลือกในการชำระเงิน และกระบวนการจองแล้ว 1 ใน 2 ของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คาดหวังว่า การเช็คอินโดยใช้แอปพลิเคชั่นจะกลายเป็นบรรทัดฐานทั่วไปของโรงแรมหรือที่พักตากอากาศในคริสตทศวรรษ 2020 การเช็คอินแบบนี้อาจแพร่หลายมากขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากผู้คนอาจต้องการจำกัดการสัมผัสกับผู้อื่นให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

นอกจากนี้ผู้ประกอบการโรงแรมและสายการบินก็กำลังทบทวนและปรับปรุงนโยบายการยกเลิกการจอง รวมถึงขั้นตอนการยกเลิกการจอง ให้สอดคล้องกับความคาดหวังใหม่ ๆ ของเหล่านักเดินทาง มีแนวโน้มสูงว่าการปรับปรุงครั้งนี้จะรวมไปถึงการเพิ่มความยืดหยุ่นของการจองห้องพัก การใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเกี่ยวกับจำนวนการเข้าพัก และกลยุทธ์การกำหนดราคาตามดีมานด์ รวมถึงการร่วมมือกับช่องทางการจัดจำหน่ายต่าง ๆ เพื่อส่งข้อเสนอพิเศษสำหรับที่พัก และเที่ยวบินให้แก่นักเดินทาง ผู้เล่นอื่น ๆ อย่างเครือข่ายบัตรเครดิตและธนาคารก็มีบทบาท และสามารถให้การสนับสนุนได้ โดยการส่งเสริมแคมเปญการเดินทางอย่างปลอดภัย

สิ่งที่สำคัญที่สุดในระบบนิเวศการเดินทาง (travel ecosystem) คือ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันปรับเงื่อนไขสำหรับนโยบายและกลยุทธ์ใหม่ให้สอดคล้องกัน และประสานงานกันในการกำหนดรูปแบบและช่วงเวลาของแคมเปญ ให้นักเดินทางสามารถวางแผนการเดินทางได้สะดวกขึ้น OTA มีทรัพยากรมากพอ และพร้อมเชื่อมต่อผู้เล่นต่างๆ อาทิ DMO โรงแรม สายการบิน ผู้ให้บริการกิจกรรม และพาร์ทเนอร์สนับสนุนอื่น ๆ กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่กว้างขึ้น

3.นักเดินทางก็มีส่วนร่วมเช่นกัน

ส่วนสำคัญสุดท้ายก็คือนักเดินทาง ผู้คนจะต้องอยากกลับมาเดินทางอีกครั้งแน่นอน ถึงแม้เราจะคาดการณ์ว่าการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของแต่ละประเทศจะแตกต่างกันไป แต่หากรัฐบาลเริ่มยกเลิกข้อจำกัดด้านการเดินทางโดยที่ประชาชนยังไม่มีความเข้าใจร่วมกันในการเดินทางอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็จะเป็นไปอย่างเชื่องช้าและยากลำบาก

จากการสำรวจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในคริสตทศวรรษ 2020 (Next Decade Survey) ของอโกด้าพบว่า นักเดินทางกว่า 25% ต้องการจะเดินทางในลักษณะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การระบาดของไวรัสในครั้งนี้อาจทำให้เราหันมามองการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอย่างจริงจังมากขึ้น นักท่องเที่ยวอาจตระหนักได้ว่าการเดินทางของตน รวมถึงการกระทำซึ่งอาจเกิดจากความเคยชินมีผลกระทบอย่างไร ซึ่งอาจนำไปสู่การค้นหาโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หรือเลือกจุดหมายปลายทางในเมืองรองที่ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวมากนัก เพื่อช่วยกระจายรายได้และสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น

การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เติบโตเร็วที่สุด ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราพบว่าอุตสาหกรรมนี้มีความยืดหยุ่นในการฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ความปรารถนาในการเดินทางของผู้คนจะยังคงมีอยู่ อย่างไรก็ตาม การต้อนรับนักท่องเที่ยวกลับมาและการสร้างความเชื่อมั่นในการเดินทางต้องอาศัยวิธีการใหม่ ๆ และการทำงานร่วมกัน เช่นเดียวกับกิ่งไม้ เมื่อมีอยู่กิ่งเดียวก็หักได้ง่าย แต่เมื่ออยู่รวมกันหลายกิ่งก็ยากที่จะหัก ความร่วมมือจากทุกฝ่าย และการเสริมกำลังภาคการท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยและยั่งยืน คือสิ่งจำเป็นในการก้าวฝ่าวิกฤตในครั้งนี้ไปด้วยกัน

เรื่อง : อนุสรา  ทองอุไร