Talk/Interview » กอบกุล ฟอนฮาร์ตมัน ถ้าจะอยู่รอดต้องปรับตัวให้ได้และทันเวลา

กอบกุล ฟอนฮาร์ตมัน ถ้าจะอยู่รอดต้องปรับตัวให้ได้และทันเวลา

22 มิถุนายน 2020
2017   0

จากสถานการณ์โควิด ที่ผ่านมา 4  เดือนนั้น ทำให้ทุกคนและเกือบทุกธุรกิจต้องหยุดนิ่ง เพื่อรอดูเวลาและท่าทีต่างๆ แน่นอนว่า มีหลายธุรกิจต้องปรับแผนงานต่างๆ ใหม่หมด เพราะทุกอย่างอาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจก็ต้องดำเนินต่อไป เพียงต้องปรับจูนทิศทางให้เหมาะสม เพื่อให้งานนั้นอยู่รอดและได้ไปต่อกับวิถีใหม่แบบ new normal วันนี้ได้สัมภาษณ์ผู้บริหารสาวสวยคุณเอ๋-กอบกุล ฟอนฮาร์ตมัน ผู้บริหาร บริษัทบลูไลท์ ผู้ผลิต จำหน่าย และนำเข้ากระเป๋าเดินทางรวมกว่า 10 แบรนด์ทั้งของตัวเองเช่น คาจิโอนี่  โจกาเซีย และที่นำเข้ามา ทั้งจากอเมริกาและเอเชีย ทั้ง Echolac , MendoZa, Catepillar และกำลังจะเปิดช็อปของตัวเองในชื่อ B-Bag

 

เธอบอกว่าธุรกิจของเธอ ส่งผลกระทบโดยตรง เพราะกระเป๋าเดินทางนั้น เกี่ยวกับเรื่องท่องเที่ยว ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตั้งแต่เดือน กพ.-มิย. นี้ คนหยุดเดินทาง และคาดว่ากว่าจะเริ่มเดินทางได้ตามปกติอีกครั้งก็คงเป็นช่วงต้นปีหน้า หรือถ้าดีหน่อยก็อาจจะเป็นช่วงปลายปีนี้ สรุปแล้วก็คือ ตลอด 8 เดือนนี้คนหยุดท่องเที่ยวโดยเฉพาะต่างประเทศ จึงต้องปรับแผนทำงานใหม่ ทั้งแผนระยะสั้นและแผนระยะกลาง เพื่อให้เหมาะกับการทำงานในภาวะเช่นนี้

 

“เรากระทบมากยอดขายหายไปเลย 90% เพราะช้อปในห้างสรรพสินค้า ลูกค้าหลักคือนักท่องเที่ยวต่างชาติ  แต่ถ้าเป็นช้อปที่สำนักงานใหญ่ย่านศรีย่าน กับที่โรงงานที่ปทุมธานีนั้นเป็นลูกค้าในประเทศ เดิมเรามีแผนจะเปิดช็อปสแตนอโลนช่วงไตรมาสแรกของปีอีก 2-3 ช็อปก็ระงับหมดเลย เสียดายบางแห่งเซ็นสัญญาไปแล้วตกแต่งไปแล้วก็ต้องจำใจทิ้ง เพราะเปิดก็ไปต่อไม่ได้เงินก็ยิ่งไปจมก้อนใหญ่กว่าที่เสียไปอีก เราต้องยอมทิ้งมัดจำและกลับมาทบทวนท่าทีใหม่ โดยการมาดูแลเรื่องระบบการเงินของเราให้แคชโฟลไม่สะดุดและทำอย่างไรที่จะประคับประคองพนักงานเกือบ 400 ชีวิตให้ไปต่อด้วยกันได้นานที่สุด” เธอกล่าวด้วยความตั้งใจ

ตอนนี้เราหยุดผลิตเพราะสินค้าขายไม่ได้ ก็ต้องระบายสต็อกเก่าที่มีอยู่ให้ออกไปให้ได้ก่อน สำหรับกระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่

นอกจากนี้ เธอบอกว่าต้องเปลี่ยนรูปแบบการตลาดและการผลิตใหม่ทั้งหมดในช่วงนี้ คือจากที่เคยผลิตกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ขนาด 24 นิ้วขึ้นไป จากเดิมที่เคยผลิตขนาด 26/ 28/ 30 นิ้วเป็นขนาดที่ขายดี สำหรับคนเดินทางไปต่างประเทศ เมื่อคนออกเดินทางไม่ได้ ก็ต้องเปลี่ยนมาผลิตกระเป๋าเดินทางใบเล็ก ขนาด 20-24 นิ้วแทน สำหรับนักเดินทางภายในประเทศ ที่คาดว่าจะเริ่มเดินทางท่องเที่ยวในประเทศกันเป็นส่วนใหญ่สำหรับตอนนี้

โดยผลิตลวดลายที่สวยงามสดใสมีสีสันน่าใช้มากขึ้น จากเดิมที่กระเป๋าเดินทางจะเป็นสีขรึมๆโทน ดำ น้ำตาล น้ำเงิน เทา ก็ต้องสดใสอิงแฟชั่นมากยิ่งขึ้น รวมทั้งหันมาจับตลาดในกลุ่มเอเชียด้วยกันให้มากขึ้น รวมทั้งเพิ่มการผลิตกระเป๋าอุปกรณ์แอสเซสเซอรี่ต่างๆ แบบใบเล็กๆ  มากขึ้น เช่น กระเป๋าเครื่องสำอางของผู้หญิงกล่องเล็กๆ หรือ กาะเป๋าใหญ่ขึ้นมาแบบช่างแต่งหน้ามืออาชีพ กระเป๋าอุปกรณ์การเรียนใส่ดินสอปากกาสำหรับนักเรียนนักศึกษา  กระเป๋าใส่ของจุกจิกแบบแทรเวิลเซ็ท กระเป๋าใส่ยาเวลาที่ไปโรงพยาบาลเอกชนแล้วเขาจะแจกให้ใส่ของ กระเป๋าผ้าแบบพับได้เป็นกล่องเล็กๆเวลาไปซื้อของตามซุปเปอร์

นอกจากนี้ จะทำเป็นกิ๊ฟเซ็ทใส่ของเช่นชุดแก้วน้ำแก้วกาแฟ หรือแม้กระทั่งกล่องใส่อาหารใบใหญ่ที่ให้แม่บ้านใส่ไว้หลังรถเวลาไปซื้อของแทนกล่องโฟม และกล่องใส่อหารใบใหญ่ๆ ที่พวกแกร๊ป ฟู้ด แพนด้า ไลน์แมน ใช้บรรจุอาหารไปส่งลูกค้า สิ่งที่อยากฝากไปถึงผู้บริโภคก็คือถึงเวลาที่ไทยต้องช่วยไทยใช้ของไทย เพื่อให้ธุรกิจของคนไทยอยู่รอดสนับสนุนคนไทยกันเอง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน หรือ เอสเอ็มอี รายย่อย

“ที่อยากขอความร่วมมือ ก็คือ หลายองค์กร เช่น ธนาคาร หรือบริษัทใหญ่ๆ เวลาที่ทำของที่ระลึกแจกลูกค้า อย่างกระเป๋าเดินทาง ก็มักจะเลือกสินค้าที่มาจากจีน ราคาถูก แต่คุณภาพไม่ค่อยดี แทนที่จะจ่ายเพิ่มอีกนิด แล้วได้ของคุณภาพสูงไปแจกให้ลูกค้า ซึ่งบริษัทคนไทยนั้น ฝีมือดีคุณภาพสูงกว่ามาก ยิ่งในภาวะแบบนี้ลองบอกงบประมาณมาได้เลย เราพร้อมลดราคา ได้กำไรน้อย เราก็ทำ เพื่อให้ลูกน้องมีงานทำ นาทีนี้ ยากลำบากกันทุกคน อะไรที่พอลดราคาได้ เราพร้อมถอยให้อยู่แล้ว ตอนนี้ ทุกคนรู้ว่าต้องกินคำเล็กๆ เพื่อให้อยู่รอดไปต่อกันให้นานที่สุด เราไม่ต้องการปลดคน ไม่อยากให้ลูกน้องตกงาน รัฐควรจะดูแลในส่วนนี้สร้างงานสร้างอาชีพ” เธอกล่าวอย่างจริงใจ

กอบกุล ยังฝากทิ้งท้ายไว้ว่า บทเรียนจากโควิดครั้งนี้ สอนให้รู้ว่าชีวิตไม่มีความแน่นอน อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ เป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงมากกระทบไปทั่วโลก จะเก่ง จะใหญ่แค่ไหนก็ไม่มีใครควบคุมได้ ธุรกิจหลายอย่างอาจจะต้องหายไป หลายบริษัทปิดตัว เธอเล่าว่าเธอเป็นรุ่นที่ 3 ของธุรกิจนี้ คุณพ่อของเธอเป็นรุ่นที่ 2 ยังบอกว่าหนักที่สุดที่เคยเจอมาท่านพยายามปล่อยวางให้กำลังใจลูกๆ เพราะกลัวรุ่นที่ 3 อย่างเธอเครียด ก็พยายามใหกำลังใจกันในครอบครัวและทีมงาน ดังนั้น ต้องไม่ประมาทกับชีวิต ทั้งเรื่องงาน เรื่องเงิน ควรมีเงินสำรองไว้ยามฉุกเฉินอย่างน้อย 3 เดือน ดีที่สุดคือ 6 เดือน แต่พบว่าคนไทยส่วนใหญ่แค่เดือนเดียวก็เกือบจะไม่มีสำรองกันแล้ว คงต้องคิดใหม่วางแผนการเงินกันใหม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความรู้และส่งเสริมการออมให้มากขึ้น

“และถ้าเป็นไปได้ก็อยากหาธุรกิจมาเสริม เพราะตอนนี้เรามีธุรกิจนี้เพียงอย่างเดียว ถ้ากระทบก็โดนเต็มๆ จึงอยากกระจายความเสี่ยงหาธุรกิจใหม่ๆ เพิ่ม ที่สนใจและคิดว่าเป็นเทรนด์ต่อไปในอนาคตก็เป็นเรื่องอาหารเสริม ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ มองๆ ไว้หลายประเทศในยุโรป อาหารเสริมคุณภาพดีราคาไม่แพง อยากจะนำเข้าตอนนี้ พยายามหาข้อมูลอยู่ ” เธอกล่าวอย่างมีความหวัง

 เรื่อง : อนุสรา ทองอุไร